องค์ความรู้ เรื่องการจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน

        
Views: 858
Votes: 0
Comments: 0
Posted: 13 Aug, 2013
by: บุญมา น.ม.
Updated: 13 Aug, 2013
by: บุญมา น.ม.
การจัดการความรู้
เรื่อง การจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน
          จากการประชุมระดมความคิดของสมาชิกชุมชนนักปฏิบัติของกลุ่มการจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ได้องค์ความรู้ 3 องค์ดังนี้
1.ด้านการเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิต คือ การพัฒนากระบวนการที่ทำให้ นักศึกษา องค์กร สถาบัน และสังคมได้พัฒนาความสามารถ (ทั้งโดยบุคคลหรือร่วมกัน) ในการปฏิบัติหน้าที่ที่จะแก้ปัญหา รวมทั้งกำหนดและดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้แบ่งออกได้ดังนี้
1.1 การพัฒนาสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาในระดับที่ใช้ในการทำงานได้
1.) ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและระบบวัดผลการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ
2.) ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาอาจารย์ด้านการสอนภาษาอังกฤษรวมทั้งภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
3.) ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนและความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและการวิจัยด้านอาเซียนศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน
1.2 การพัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบวิชาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรมของบัณฑิต
1.) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาโดยสนับสนุนการถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
2.) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโลกทัศน์และเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้แสดงความสามารถในเวทีระดับนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอาเซียนรวมถึงกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักในการเป็นพลเมืองอาเซียน
3.) การลงนามความร่วมมือ MOU ของสาขาวิชากับสถานประกอบการในภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประกอบอาชีพ
4.) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพร่วมของอาเซียน ซึ่งเป็นวิชาชีพที่จะสามารถเดินทางไปประกอบอาชีพในประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างเสรี ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งมี 8 สาขาอาชีพ ได้แก่ วิศวกรรม การสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี และการบริการท่องเที่ยว โดยอาชีพที่ได้มาตรฐาน และได้รับการรับรองให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างประเทศสมาชิอาเซียนได้ตามกฎกติกาและเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
 
 
 
 
 
1.3 การวัดผลและประเมินผลที่เป็นมาตรฐานสากล
การวัดผลและประเมินผลที่เป็นมาตรฐานสากล โดยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและการกำหนดมาตรฐานการวัดสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษของบัณฑิต การวัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนรู้เป็นการตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าในการเรียน มีความรู้ มีทักษะ มีความสามารถ และเจตคติ และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด โดยจัดให้การวัดผลและประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรียนการสอน เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลและนำไปพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข โดยคำนึงถึงหลักการดังนี้
          1.) เน้นการนำผลการประเมินมาใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนปรับปรุงกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้
          2.) เน้นการประเมินด้วยวิธีที่หลากลาย ประเมินตามสภาพจริง คุณภาพงาน
          3.) เน้นให้มีส่วนร่วมในการประเมิน
1.4 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและพึ่งตนเองได้ในประชาคมอาเซียนนั้น ต้องดำเนินการทั้งระบบ ในคณะ และในทุกๆด้าน งานวิชาการ หรืองานจัดการเรียนรู้ถือเป็นงานหลัก เป็นงานที่จะส่งผลโดยตรงให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ควรจะต้องมีการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างหลักสูตรแกนกลางหรือแผนยุทธศาสตร์ของอาเซียน และเป้าหมายของประชาคมอาเซียน เพื่อกำหนดเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่บูรณาการกิจกรรมทุกกิจกรรมทั้งระบบ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน การจัดกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา นอกจากนี้จะต้องเป็นหลักสูตรที่ยึดผลการเรียนรู้ เน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเป็นกิจกรรมที่มีต่อประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชนด้วย
การจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน จึงควรเน้นให้อาจารย์ทำการวิเคราะห์หลักสูตรที่เปิดสอนในปัจจุบันและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาผู้เรียนให้มีความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดี พร้อมที่ปรับเปลี่ยน และเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอาเซียนที่จะต้องเผชิญในอนาคต ดังนี้
1).การปรับรายละเอียดของวิชา (มคอ.3)  
2).การเพิ่มรายวิชาศึกษาอาเซียนในโครงสร้างหลักสูตร
3).การจัดการการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
4).การเปิดโอกาสให้นักศึกษาในภูมิภาคอาเซียนได้เข้ามาศึกษา
5).การผลิตและพัฒนาอาจารย์ด้านการสอนภาษาอังกฤษ
6).การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
7).การจัดสรรทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในอาเซียนและการพัฒนาระบบการถ่ายโอนหน่วยกิต     ในอาเซียน การจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโลกทัศน์นักศึกษาไทยสู่นักศึกษาอาเซียน
8).การจัดการเรียนการสอนโดยการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
9).พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องให้มีคุณภาพระดับสากล
10).การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเป็น 2 ภาษา เช่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
11).ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติในสาขาที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นไปตามความต้องการของอาเซียน
 
         1.5 บทบาทของอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาต่อการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
          อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการศึกษา ในการขับเคลื่อนเยาวชนไทยสู่ประชาคมอาเซียนให้ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน บทบาทของอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ต่อการจัดการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน มีดังนี้
1.)     ส่งเสริมความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของกฎบัตรอาเซียนโดยให้บรรจุเรื่องอาเซียนในหลักสูตรและให้มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎบัตรอาเซียนด้วยการแปลเป็นภาษาประจำชาติของสมาชิกอาเซียน
2.)     ให้ความสำคัญต่อหลักการประชาธิปไตยและการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และคุณค่าของสันติภาพ โดยให้บรรจุเนื้อหาดังกล่าวไว้ในรายละเอียดของวิชา (มคอ.3)
3.)     จัดโครงการฝึกอบรมแลกเปลี่ยนอาจารย์รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์มีความเข้าใจอันดีและตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและจารีตประเพณีที่แตกต่าง ตลอดจนความศรัทธาของศาสนาต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
4.)     การจัดประชุมผู้นำนักศึกษาในคณะเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับอาเซียน รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำนักศึกษาและจัดทำเครือข่ายระหว่างกัน
5.)     จัดฉลองวันอาเซียน ในช่วงเดือนสิงหาคม ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นการร้องเพลงอาเซียน การจัดการแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับประวัติและวัฒนธรรมอาเซียน การแสดงตราสัญลักษณ์อาเซียน การจัดค่ายเยาวชนอาเซียน และการจัดเทศกาลอาเซียน
6.)     สนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในชุมชน ชนบท ด้วยการจัดโครงการชุมชนอาเซียนสำหรับ เยาวชนอาสาสมัครเพื่อสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ในชนบทและชนพื้นเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียน
7.)     สนับสนุนภาษาอาเซียนให้เป็นวิชาเลือกในการเรียนภาษาต่างประเทศในมหาวิทยาลัย ส่งเสริมโครงการระดับภูมิภาคโดยมุ่งส่งเสริมการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียนในเยาวชน เช่นโครงการวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนอาเซียน โครงการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนอาเซียน โครงการการศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน และการประกวดสุนทรพจน์อาเซียน
8.)     จัดประชุมด้านการวิจัยทางการศึกษาในอาเซียนด้วยการส่งเสริมการทำวิจัยร่วม และการพัฒนาด้านการวิจัยและการพัฒนาในภูมิภาค เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับนักวิจัยในอาเซียนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆในภูมิภาค
9.)     ส่งเสริมความเข้าใจอันดี การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ด้วยการบูรณาการความรู้เรื่องดังกล่าวไว้ในหลักสูตร และให้มีการมอบรางวัลโครงการสถานศึกษาสีเขียว
10.) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสนับสนุนโครงการศึกษาเพื่อปวงชน
การจัดการเรียนการสอนของคณะเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ผู้เรียนควรได้รับทราบเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา ความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพที่สำคัญต่างๆ ควบคู่กับความรู้เกี่ยวกับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานที่กำหนดให้มีการยกเว้นข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอวีซ่า Short term visits สำหรับคนอาเซียน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่า และใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญสัญชาติอาเซียน ที่จะช่วยลดสิ่งกีดกั้นอุปสรรคการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้เรียนทุกคนจะต้องเข้าไปแข่งขันกับคนต่างชาติต่างๆในกลุ่มอาเซียนอย่างแน่นอน
ดังนั้นคณะจึงควรเตรียมความพร้อมผู้เรียนให้สอดคล้องกับคุณลักษณะของประชาคมอาเซียนตามที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดไว้ คณะในฐานะเป็นหน่วยงานที่ผลิตกําลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน จําเป็นยิ่งที่จะต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อรองรับตลาดแรงงานในประชาคมอาเซียนสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอาเซียนได้อย่างมีความสุขและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยคณะต้องผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์และมีคุณภาพดังนี้
1.6 คุณลักษณะของบัณฑิตและบัณฑิตที่พึงประสงค์
บัณฑิตต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1.) ต้องเป็นนักคิด
2.) มีทักษะคิดแก้ปัญหา
3.) บริหารเวลาเก่ง
4.) ทํางานเป็นทีม
5.) การคิด พูด ตัดสินใจ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล
6.) มีการจัดการความรู้
7.) เรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยต้องสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ดังนี้
1.) มีความรู้ทักษะ ด้านวิชาการวิชาชีพ วิชาชีวิต และความสามารถระดับสากล เรียนรู้ใฝ่รู้ ตลอดชีวิต
2.) มีคุณธรรมจริยธรรม วินัยและความเป็นผู้นํา โดยยอมรับความแตกต่างหลากหลาย รู้เขา รู้เรา สามารถ ปรับตนเองให้สามารถทำงานกับบริบทใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.) มีสติปัญญาและวิจารณญาณ มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบและสามารถแก้ไขปัญหาได้
 
4.) เข้าใจความเป็นจริงของสังคมไทยและสังคมโลกรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันระดับ
สากลและปรับตัวได้อย่างเป็นสุข
5.) มีความเป็นประชาธิปไตย มีความคิดที่เป็นเสรีมีความเท่าเทียมกัน
6.) มีจิตสํานึกและภาคภูมิใจในความเป็นไทยสามารถใช้ภูมิปัญญาไทยในการพัฒนาประเทศ
7.) ตระหนักในคุณค่าทรัพยากรศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
8.) มีจิตสํานึกและศักยภาพในการสร้างงาน มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ใฝ่รู้ สู้งานหนัก รักการอ่าน
9.) มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
 
2.ด้านการพัฒนาอาจารย์
ประเทศไทย มีครูทั่วประเทศมากกว่า 6 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ มีครูในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐ 5 แสนคน ซึ่งต้องทำหน้าที่ให้ความรู้นักเรียน นักศึกษา สื่อไปยังครอบครัวทราบถึงประโยชน์ในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ของ 10 ประเทศ ที่จะย่อมมีเสียงที่เข้มแข็งกว่าการอยู่ประเทศเดี่ยวๆ เมื่อโอกาสที่ดีกว่านี้เข้ามา อาจจะเสียโอกาสบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความพร้อม และมีทัศนคติกล้าจะเสี่ยง เพื่อก้าวล่วงไปสู่โอกาสที่ดีกว่า แต่จะไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เพื่อให้เกิดความไว้ใจกันและกันในอาเซียน ที่นำไปสู่ความพร้อมและเชื่อใจการเป็นประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนร่วมกัน
 ภาษามีความสำคัญ ที่จะต้องส่งเสริมหลักสูตรให้มีการเรียนรู้และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องรู้ภาษามากกว่าภาษาอังกฤษ โดยต้องเรียนรู้ภาษาและเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นขึ้น ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ นอกจากนี้อาจารย์ต้องมีบทบาท ในการสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น ลดจำนวนชั่วโมงเรียน ถ้านักศึกษามากจะไม่มีเวลาได้คิดอะไร ซึ่งควรจะเน้นให้ได้กิจกรรมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเชิงวิเคราะห์ ดังนั้นอาจารย์และนักศึกษาควรได้มีการพัฒนาไปในระยะเวลาเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน
2.1 การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้อาจารย์และบุคลากรในระดับที่ใช้งานได้
          1) การพัฒนาอาจารย์ให้มีสมรรถนะสากล
2) จัดอบรมในหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการเตรียมการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เช่นการเตรียมสอบ TOEFL/IELTS รวมถึงหลักสูตรเพื่อการพัฒนางานวิชาการสำหรับอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย
3) จัดทำโครงการอบรมคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับ อาจารย์ และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
4) จัดทำโครงการศึกษาดูงานในประเทศภูมิภาคอาเซียนให้กับอาจารย์และบุคลกรภายในมหาวิทยาลัย
5) เชิญวิทยากรเจ้าของภาษาในประเทศภูมิภาคอาเซียนมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ อาจารย์   และบุคลากร
6) จัดโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรมเพื่อเสริมสร้างความเป็นครูสู่อาเซียน
 
2.2 การพัฒนาทักษะความรู้ ภาษา และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนให้อาจารย์และบุคลากรในระดับที่ใช้งานได้
1.) โครงการภาษาอาเซียนสำหรับอาจารย์
2.) พัฒนาอาจารย์ให้มีสมรรถนะสากลโดยการจัดสรรงบประมาณให้กับอาจารย์ชาวต่างประเทศที่มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญสูง เช่นผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศโดยตรง มาสอน มาบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ในคณะ
      3.) การจัดตั้งสำนักงานการศึกษานานาชาติเพื่อให้อาจารย์ และบุคลากร ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้
      4.) การสนับสนุนทุนการศึกษาและวิจัยให้อาจารย์ได้ไปศึกษาต่อในภูมิภาคอาเซียน
5.)การสร้างแรงจูงใจในการเรียนการสอนโดยการพาอาจารย์ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ
6.) การแลกเปลี่ยนอาจารย์ไปร่วมสอนหรือพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน มีโครงการความร่วมมือกับสถาบันศึกษาในประเทศภูมิภาคอาเซียน
7.) การทำวิจัยร่วมระหว่างอาจารย์กับสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน
 
3.ด้านการสร้างความเข้มแข็งของคณะ
          ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนทั้งต่อตัวผู้เรียนและคณะจำเป็นจะต้องดำเนินงานตามหลักการพัฒนาคณะ โดยบูรณาการในทุกด้าน ทั้งด้านการบริหารงานวิชาการ การบริหารงานงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป โดยให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ
         
3.1 กระบวนการในการบริหารจัดการของคณะ
การบริหารจัดการ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและความสำเร็จก็คือ ผู้บริหารที่ต้องรับรู้ เข้าใจ และยอมรับงานนี้อย่างจริงใจ มีกระบวนการดังต่อไปนี้
1.)     นำเรื่องอาเซียนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเป้าหมาย นโยบาย และวัตถุประสงค์ในการดำเนินการของคณะ
2.)     สร้างความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมาย นโยบาย และวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา
3.)     กำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
4.)     กำหนดบทบาทหน้าที่ของฝ่ายต่างๆอย่างชัดเจน
5.)     จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อาเซียนศึกษาในคณะ
6.)     สร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรในคณะที่ร่วมดำเนินการอย่างจริงจัง
7.)     นิเทศ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน
8.)     จัดสรรงบประมาณ สนับสนุนทรัพยากร ในการดำเนินการอย่างเพียงพอ
9.)     พัฒนาบุคลกรในคณะ โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับอาเซียน
10.)จัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียน
11.)สร้างเครือข่ายการดำเนินงานกับผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน
12.)ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการทั้งภายในและภายนอกคณะอย่างต่อเนื่อง
 
3.2 การเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่มีความเป็นนานาชาติ
1.)ศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และการจัดโครงการ ASEAN WEEK
2.) การปรับปรุง/พัฒนา/เพิ่มเติม สถานที่สำหรับพัฒนาการทางด้านภาษาให้เพียงพอและเหมาะสม
3.) การจัดนิทรรศการ ป้ายประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนในคณะ
4.) การจัดตั้งศูนย์วิเทศสัมพันธ์เพื่อดูแลนักศึกษาต่างชาติ
5.) การประดับธงของประเทศสมาชิกอาเซียน
6.) การจัดทำป้ายต่างๆ อย่างน้อย 2 ภาษา
 
3.3 การจัดเตรียมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
1.) จัดทำ Website คณะเป็นภาษาอาเซียน
2.) มีพื้นที่บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตครอบคลุมทั่วคณะ
3.) สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาสื่อเรียนรู้ Online เรื่องอาเซียนเพื่อให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากร และอาจารย์
4.) พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น การเข้าใช้ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการให้เป็นนานาชาติ
5.) การแลกเปลี่ยน ICT ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะต้องเชื่อมโยงภายในประชาคมอาเซียนกันได้ ซึ่งได้มีการจัดตั้ง ASEAN University และ Cyber University เพื่อการเชื่อมโยง นอกจากนี้ยังได้เตรียมการเพื่อให้มีการรับรองคุณวุฒิการศึกษาระหว่างกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียน ซึ่งขณะนี้ ไทย-จีน และไทย-มาเลเซีย สามารถรับรองคุณวุฒิได้แล้ว แต่สำหรับฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถรับรองได้
6.) การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของประชาคมอาเซียน  นักศึกษาสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการค้นคว้าหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต และสื่อการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยได้เร่งผลักดันและดำเนินการในหลายด้าน
7.) สร้างศูนย์อำนวยการเพื่อให้ครูเจ้าของภาษามาสอน ครูเกษียณอายุก่อนกำหนด และครูอาสาสมัครจากประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และฟิลิปปินส์ มาสอนภาษาในโรงเรียน เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้
8.) พัฒนาการเรียนการสอนแบบ English for Integrated Studies (EIS) จะมีการบูรณาการการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกัน นักศึกษาก็สามารถเชื่อมโยงและพูดคุยกับเพื่อนต่างชาติในประชาคมอาเซียนได้
9.) พัฒนาห้องเรียนแห่งอนาคต (The Global Class) ซึ่งเป็นห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย เช่น การสอนภาษาอังกฤษของติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม โดยอาจารย์จะเป็นผู้ควบคุมการสอนและทดสอบความเข้าใจของนักศึกษา
10.) การอบรมภาษาอังกฤษให้กับอาจารย์ เพื่อให้อาจารย์ยุคใหม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ และใช้ ICT ได้ ซึ่งในยุคปัจจุบันระบบการศึกษาต้องรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอาจารย์จะต้องเท่าทันต่อเทคโนโลยีด้วย
บทสรุป
การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมนักศึกษาให้พร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตั้งอยู่บนบริบทแห่งความท้าทาย ที่ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจําเป็นจะต้องพิจารณาและให้ความสําคัญ ทั้งในเรื่องของการสร้างความสมดุลของเป้าหมาย และหลักการของการศึกษา ที่ควรกําหนดให้มีความชัดเจน คือ มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อันจะนําไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน ด้านการพัฒนาความสามารถด้านการใช้ภาษาต่างประเทศ ควรดําเนินการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ควบคู่ไปกับสร้างสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารทั้งในและนอกชั้นเรียน ด้านการพัฒนาความสามารถด้านภาษาและเทคโนโลยี ควรให้ความสําคัญกับการปฏิรูปกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้บัณฑิตที่พึงประสงค์และเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง
การจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องมุ่งเน้นการเรียนการสอนเพื่อสร้างประสบการณ์การในการแก้ปัญหาและการสร้างความหมาย ผ่านกระบวนการทดสอบและประเมินผลที่เป็นสากล ด้านการพัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษา ควรพัฒนาหลักสูตรรูปแบบใหม่ ที่จัดการเรียนรู้ด้วยการใช้ ยุทธศาสตร์การสอนในศตวรรษที่ 21 โดยมีโครงสร้างประกอบด้วยรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมที่พัฒนาขึ้นบนฐานแนวคิดของการเสริมสร้างประสบการณ์ ผ่านการบูรณาการในลักษณะ การจัดกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสาขาวิชา และด้านการพัฒนาคุณลักษณะ สมรรถนะ และค่านิยมสําหรับพลเมืองไทยสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน ควรกําหนดสมรรถนะหรือค่านิยมใหม่ที่สําคัญและจําเป็นในการอยู่ร่วมกัน เช่น การเป็นผู้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้จักตั้งปัญหา เข้าใจปัญหา ต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
 
 
 
Others in this Category
document รายชื่อสมาชิกของกลุ่ม การจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรีมความพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน
document แผน KM
document โครงการศึกษาดูงาน “การจัดการความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ณ มหาวิทยาลัยอัญสัมชัญ วิทยาเขตบางนา
document รายชื่อสมาชิกกลุ่มการจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเหป็นประชาคมอาเ ซียน