"เราสร้างการเรียนรู้หรือถอดบทเรียนจากสิ่งที่ทำ" ได้จริงหรือ: กรณีศึกษาการสร้าง format พิมพ์ผลงานวิชาการ
เมื่อพูดถึงเรื่อง KM มีหลายท่านถามว่า "เราสร้างการเรียนรู้หรือถอดบทเรียนจากสิ่งที่ทำ" ได้จริงหรือ
กรณีผม ผมต้องตอบว่า "จริงครับ"
เพื่อยืนยันทรรศนะของผม ผมขอเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการพิมพ์ผลงานวิชาการประกอบครับ
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2546 ผมและอาจารย์อภิชาติ กำภูมิประเสริฐ ตั้งใจกันว่าเราจะเขียนผลงานวิชาการ ประเด็นแรกที่เรากังวลที่สุดคือ "ใครจะพิมพ์ผลงานให้เรา" ในเวลานั้นมีผู้พิมพ์ผลงานวิชาการประเภทมือวางติดอันดับต้น ๆ หรือหาตัวจับยาก ในมหาวิทยาลัยสักไม่เกิน 3 คน
ใครจะพิมพ์ผลงานก็ต้องเข้าคิวรอนานมากกกกก ใครทนไม่ได้ก็ต้องไปจ้างคนอื่นพิมพ์เนื้อหามาก่อนแล้วค่อยนำมาให้บรรดามือวางจัดหน้าหรือปรับ format ให้ ซึ่งก็ยังคงพูดว่า "หาอนาคตไม่เจอ" เพราะไม่มีคิวและแทรกคิวไม่ได้ แม้ว่าจะรักกันอย่างไรก็ตาม
เราสองคนก็พบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นแต่เหี่ยวเฉาไปทุกวัน เพราะหาคนพิมพ์ไม่ได้ จึงต้องพิมพ์เองไปก่อนพลาง ๆ เพื่อรอคิว แต่พอนานไปก็คิดว่าคงสิ้นหวัง ดังนั้นเราจึงตั้งใจว่าจะจัดหน้าเอง โดยบากหน้าไปหามือโปรเพื่อถามวิธีการจัดหน้า คำตอบที่ได้รับก็คือ
"อาจารย์ทำไม่ได้หรอก รอหน่อยแล้วกัน แต่ไม่รู้หรอกนะว่าเมื่อไหร่จะว่าง"
ณ เวลานั้น รู้สึกแย่นะครับ แย่ที่ทำไมต้องมานั่งรอต้องง้องอนคนพิมพ์ ทั้งที่เรื่องพิมพ์ก็เป็นแค่ "ทักษะ" หรืออาจบวกด้วย "ศิลปะ" เพื่อทำให้งานพิมพ์สวย เมื่อประเมินตัวเองแล้วก็แอบคิดว่า "เรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ ไม่ต้องสอนนักศึกษาแล้ว"
ทดลองเพื่อเรียนรู้
จากนั้นเราทั้งสองคนก็เริ่มลงมือทดลองจัดหน้าตามที่คู่มือการทำผลงานวิชาการกำหนด ตั้งแต่การตั้งค่าหน้ากระดาษ การกำหนดขนาดตัวอักษร การกำหนดการเว้นระยะ การกำหนดหัวข้อหลัก รอง และย่อย ฯลฯ
ใช้เวลาสักเดือน หมดกระดาษไปเพียบ อารมณ์เสียไปหลายร้อยครั้ง จนสุดท้ายสามารถตั้งค่าหหน้ากระดาษได้ตามที่กำหนด
เรียนรู้ที่จะปรับปรุง
แม้ว่าจะตั้งค่าหน้ากระดาษได้เหมือนมือวางอันดับหนึ่งของสวนสุนันทาได้แล้ว ก็พบว่า ยังไม่สวย ไม่สวยเนื่องจากระยะห่างระหว่างหัวข้อและเนื้อหา หรือส่วนสุดท้ายของหัวข้อเดิมกับหัวข้อใหม่ ฯลฯ ไม่สมดุล จึงควรทดลองปรับใหม่ การเรียนรู้แนวคิดเรื่อง "การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" จึงเกิดขึ้น
ปรับ "ทักษะ" ให้เป็น "ความรู้เพื่อสร้างทักษะ"
เมื่อใช้ format ที่เรียนรู้มาใช้พิมพ์ผลงานของตัวเองแล้ว ก็ใช้ format ที่ได้ไปใช้กับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่สวนสุนันทาและราชภัฏอื่นด้วย ปรากฏว่า ได้ผลครับ ไม่มีใครที่พิมพ์ด้วย format นี้ ต้องแก้ไขเรื่องการพิมพ์เลยสักคน
ดังนั้น เราจึงนำสิ่งที่ได้มาทำเป็นตัวอย่างและเขียนอธิบายวิธีพิมพ์เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพิมพ์สำหรับผู้อื่น
ใช้ "ความรู้เพื่อสร้างทักษะ" เพื่อ "สร้างคนให้มีทักษะ"
เมื่อผลงานของผมผ่านการตรวจโดยไม่ต้องแก้ไขเลย จึงเริ่มมั่นใจว่า format ที่สร้างได้ผลจริง
หลังจากนั้นมีพี่ในคณะต้องปรับผลงานซึ่งส่งกลับมาแก้ไข ผมจึงขอให้พี่ท่านนั้นไปตามคนพิมพ์มาเรียนรู้ format ที่สร้างขึ้น เพื่อให้สามารถนำ format ไปใช้พิมพ์ผลงานของอาจารย์ท่านอื่นได้ด้วย นอกจากเจ้าหน้าที่ท่านนี้แล้ว ผมก็นำไปให้คนพิมพ์งานในราชภัฏอื่น รวมทั้งนำไปสอนนักศึกษาในรายวิชาที่ผมสอนด้วยเพื่อให้ใช้ Word พิมพ์งานให้สวยน่าอ่าน
ท่านใดต้องการเห็นตัวอย่าง format ที่ใช้ ขอดูได้จากอาจารย์วิภาณี อาจารย์เรวดี หรืออาจารย์ธนิต ได้ครับ
อย่างไรก็ตาม ผมก็คงต้องเรียนว่า format ที่ใช้ ไม่ใช่ format ที่สมบูรณ์ที่สุดหรอก เพราะทุกสิ่งต้องมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ได้นั้นคือตัวอย่างของการเรียนเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่สำคัญก็คือการเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง ครับ