หน้าแรก / การจัดการความรู้ / การจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 / วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ / ถอดบทเรียนประสบการณ์ความสำเร็จของ รศ.อรพินธ์ เจริญผล
|
|
|||||
ถอดบทเรียนประสบการณ์ความสำเร็จของ รศ.อรพินธ์ เจริญผล
คุณอำนวย: ผศ. ดร. อาภา ยังประดิษฐ
คุณลิขิต: อ.ศันสนีย์ รุ่งรัตน์ธวัชชัย
รศ.อรพินธ์ เจริญผล เป็นอาจารย์พยาบาลที่ได้รับการยอมรับจากวงการการศึกษาของพยาบาล และสภาการพยาบาลในด้านวิชาการเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งอาจารย์ยังเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จโดยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้รับการต่ออายุราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษอีก 5 ปี ก่อนที่อาจารย์จะมารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการวิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ชาวชุมชนคนอยากรู้ของวิทยาลัยฯ จึงได้จัดเวทีถอดบทเรียน เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์และเส้นทางความสำเร็จของรศ.อรพินธ์ เจริญผล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ทั้งนี้เพื่อเป็นบทเรียนให้อาจารย์รุ่นหลังได้เรียนรู้และเจริญรอยตาม ดังนี้
รศ.อรพินธ์ เจริญผล มีความตั้งใจที่จะเรียนพยาบาลตั้งแต่แรก โดยเลือกสอบพยาบาลของทุกสถาบันซึ่งอาจารย์สามารถสอบได้ทุกสถาบันที่ได้เลือกไว้ แต่อาจารย์เลือกเรียนพยาบาลที่โรงเรียนพยาบาล อนามัยและผดุงครรภ์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อเรียนจบจะได้รับอนุปริญญาพยาบาลและประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ และอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ตั้งแต่นั้นอาจารย์ก็เริ่มชีวิตของการเป็นนักศึกษาพยาบาลเรื่อยมา จนมีอยู่คราวหนึ่ง อาจารย์ได้มีโอกาสเรียนวิชาฝึกปฏิบัติการพยาบาลสูติศาสตร์ฯ ทำให้อาจารย์รู้สึกประทับใจเพราะการฝึกปฏิบัติสูติฯต้องใช้เวลาคลุกคลีกับเพื่อนๆแทบจะตลอดเวลาเนื่องจากต้องเฝ้าคลอด
วันหนึ่ง ขณะที่อาจารย์และเพื่อนๆอยู่เวรดึก ซึ่งเป็นวันที่มีผู้คลอดมารอคลอดเป็นจำนวนมาก เวลาประมาณ 00.30 น. มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งอุ้มเด็กทารกแรกเกิดออกมาจากห้องน้ำ เพราะมารดาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอคลอดไปเข้าห้องน้ำและเกิดเจ็บท้องเบ่งคลอด ซึ่งสำหรับอาจารย์ในขณะนั้นเป็นเพียงแค่นักศึกษาพยาบาลจึงไม่ได้สนใจติดตามอาการของมารดาและทารกคนดังกล่าว ต่อมาอาจารย์ทราบภายหลังจากอาจารย์พยาบาลสูติฯว่า เด็กทารกคนดังกล่าวเกิดภาวะอัมพาตที่ใบหน้า (Facial Palsy) เพราะศีรษะของทารกกระแทกกับโถชักโครกขณะที่มารดากำลังเบ่งคลอด ทำให้อาจารย์ตระหนักคิดได้ว่า การเป็นพยาบาลโดยเฉพาะพยาบาลทางสูติศาสตร์ต้องดูแลทั้งมารดาและทารก รวมถึงครอบครัวอีกด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้อาจารย์เลือกที่จะเป็นพยาบาลในแผนกสูติศาสตร์โดยในวันที่เรียนจบ อาจารย์เขียนในใบเลือกหอผู้ป่วยห้องคลอดทุกอันดับด้วยเหตุผลที่ว่า “กลัวไม่ได้อยู่สูติฯ”
เมื่ออาจารย์เรียนจบจึงได้ปฏิบัติงานในห้องคลอดเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน อาจารย์เริ่มคิดว่า จำเป็นต้องหาความก้าวหน้าให้กับชีวิตด้วยการเรียนเพิ่มเติม อาจารย์จึงได้ไปสอบเพื่อศึกษาต่อพยาบาลในระดับปริญญาตรีที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ในขณะนั้น หน่วยงานสามารถอนุมัติให้มีผู้ไปศึกษาต่อได้เพียง 1 คน หัวหน้าหน่วยงานจึงขอร้องให้อาจารย์ไปศึกษาต่อปีหน้า แต่อาจารย์มีความต้องการที่จะศึกษาต่ออย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีความเชื่อส่วนตัวว่า ชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุก 3 ปี อาจารย์จึงได้ตัดสินใจลาออกจากห้องคลอด และเริ่มเรียน ที่ ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทันที
ในระยะเวลาที่อาจารย์ใกล้จบการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโครงการเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ อาจารย์ผู้ก่อตั้งโครงการฯจึงได้ทาบทามอาจารย์และเพื่อนร่วมรุ่นให้เป็นอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งอาจารย์และเพื่อนๆก็ตอบตกลงทันที แต่ระหว่างการฝึกงานเพื่อเตรียมตัวเป็นอาจารย์พยาบาล อาจารย์พบเหตุการณ์บางอย่างซึ่งอาจารย์รู้สึกว่า ถ้าต้องพบเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ อาจารย์คงจะเป็นอาจารย์พยาบาลที่ไม่มีความสุข เพราะสิ่งที่อาจารย์ต้องการคือ การฝึกการเป็น “อาจารย์” เช่น การสอน การเขียนหลักสูตร การเขียนแผนการสอน การจัดการหลักสูตรฯ การจัดการเรียนการสอน อาจารย์จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยเหตุผล “แต่งงาน”
ในวันที่อาจารย์ลาออก อาจารย์มาเดินเตร็ดเตร่อยู่ในโรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยความคิดที่จะเดินไปสมัครงเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างนั้น อาจารย์ได้พบกับอาจารย์พยาบาลสูติฯท่านที่เคยนิเทศในอดีต อาจารย์พยาบาลสูติฯท่านนั้นได้บอกอาจารย์ว่า ตำแหน่งอาจารย์พยาบาลในขณะนั้นยังไม่มี แต่เนื่องจากระบบงานของรามาธิบดีขณะนั้น การศึกษาและการบริการ ยังไม่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด หากต้องการเป็นอาจารย์พยาบาลต้องอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าห้องคลอดไปก่อน แต่จะให้ทำหน้าที่อาจารย์ประจำห้องคลอดจนกว่าจะมีตำแหน่งอาจารย์ว่าง อาจารย์จึงตัดสินใจสมัครงานในตำแหน่งหัวหน้าห้องคลอดทันที
เมื่ออาจารย์ได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าห้องคลอด ซึ่งควบรวมตำแหน่งอาจารย์พยาบาลไปด้วยนั้น อาจารย์ได้ศึกษาว่า “มหาวิทยาลัยต้องการอะไรจากผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์” บ้าง เพื่อปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง อาจารย์ให้ข้อคิดไว้ว่า ในฐานะผู้บริหาร เราต้องรู้จักลูกน้องทุกคน ต้องดูแลทั้งทุกข์และสุขของลูกน้องทุกคน อาจารย์ยกตัวอย่างว่า ลูกน้องของอาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลมีปัญหาในเรื่องของการขาดงานบ่อย เมื่ออาจารย์สอบถามได้ความว่า ลูกน้องของอาจารย์คนนี้ ยากจน ต้องอาศัยใต้สะพานลอยกับครอบครัวประกอบไปด้วย สามีซึ่งมีอาชีพเก็บของเก่าขาย และลูกสาวเล็กๆ 1 คน เมื่อสามีไปเก็บของเก่า ลูกน้องของอาจารย์จึงต้องอยู่กับลูกสาวเนื่องจากห่วงอันตรายจากพวกติดยาเสพติดที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน อาจารย์ให้ความสนใจดูแลทุกข์สุขของลูกน้องคนนี้ จนปัจจุบัน ลูกน้องคนนี้ลาออกจากผู้ช่วยพยาบาลและไม่ได้อาศัยอยู่ใต้สะพานลอยน เพราะเปิดกิจการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีความสุขได้
ระหว่างที่อาจารย์ทำงานอยู่นั้น หลักสูตรพยาบาลเริ่มเปลี่ยนไปโดยเฉพาะปริญญาโท ซึ่งมีการถกเถียงกันเรื่องการคัดเลือกอาจารย์พยาบาลประจำหลักสูตรปริญญาโทและสามารถดูแลวิทยานิพนธ์ ว่า ควรต้องมีวุฒิปริญญาโททางการพยาบาล หรือมีตำแหน่งทางวิชาการเท่านั้น ผู้บังคับบัญชาของอาจารย์จึงได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ขอตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์จึงได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเพราะอาจารย์ทำงานด้านการสอนแล้วอาจารย์เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้เสมอ
หลังจากที่เป็นอาจารย์ได้ 2 ปี เริ่มมีอาจารย์พยาบาลที่ได้รับทุนร็อกกี้ เฟลเรอร์ กลับมาจากต่างประเทศ อาจารย์รู้สึกถึงความแตกต่างของการเป็นอาจารย์พยาบาลปริญญาตรีและปริญญาโท อาจารย์จึงเริ่มหาโอกาสไปสอบเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทอีกครั้ง ซึ่งอาจารย์สามารถสอบเข้าศึกษาปริญญาโทที่คณะพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารเนื่องจากไม่ตรงสาขา อาจารย์จึงสอบเรียนต่อที่ ภาควิชาการพยาบาล สาขาการบริหารการพยาบาล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นนิสิตปริญญาโททางการพยาบาลรุ่นแรกของประเทศไทย คราวนี้ได้รับอนุมัติให้ศึกษาได้โดยไม่ต้องลาราชการ แต่ ให้ทำงานชดเชยเวลาที่ไปศึกษา และอาจารย์ใช้เวลา 2 ปีในการศึกษาจนจบโดยใช้ เวลาเสาร์-อาทิตย์ในการทำงานชดเชยเวลาที่ลาศึกษาต่อ
หลังจากจบปริญญาโท อาจารย์ก็กลับมาทำงานในฐานะอาจารย์พยาบาลและเริ่มขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ อาจารย์คิดว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญในชีวิตของอาจารย์ คือ การได้รับความเมตตาจากอาจารย์ผู้ใหญ่อยู่เสมอเนื่องจากอาจารย์มีความตั้งใจในการทำงาน ความมุ่งมั่น ตั้งใจกับทุกงานที่ทำ เพื่อน/ทีมที่จะช่วยเหลือในการทำงาน และครอบครัวซึ่งเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ อาจารย์ยกตัวอย่างว่า สมัยที่อาจารย์เรียนปริญญาโท อาจารย์นำลูกสาวคนโตไปนั่งร่วมกิจกรรมกลุ่มกับเพื่อนๆด้วยเสมอ เนื่องจากไม่มีคนดูแล ซึ่งอาจารย์คิดว่า นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกๆของอาจารย์ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาและงานทำงาน
เมื่อใกล้เกษียณอายุราชการ อาจารย์ก็ยังคงทำงานอย่างมีความสุขไม่เคยมีความคิดที่จะนับถอยหลังคอยวันเกษียณ จนกระทั่ง 7 วันก่อนเกษียณอายุ หัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ได้ขอร้องให้อาจารย์ต่ออายุราชการโดยมีสัญญาปีต่อปี ระหว่างนั้น คำสั่งต่ออายุราชการถูกประกาศใช้ หัวหน้าภาควิชาฯจึงขอร้องให้อาจารย์ต่ออายุราชการอีก 5 ปี และส่งอาจารย์ไปเรียนพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)ในขณะที่อาจารย์มีอายุ 60 ปี เพื่อให้อาจารย์ดูแลนักศึกษาปริญญาโทสาขาพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ปฏิเสธและตั้งใจเรียนจนจบ
จนกระทั่ง ครบ 5 ปี อาจารย์หมดสัญญาต่ออายุราชการ อาจารย์ได้รับการทาบทามจาก ดร.พรพรรณ ว.รัตนอมร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้มาปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ตามลำดับตั้งแต่วันที่2 มกราคม 2553 จนบัดนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ซึ่งท้ายสุด อาจารย์ได้ให้คำแนะนำสำหรับอาจารย์รุ่นใหม่ไว้ ดังนี้
1. อาจารย์ทุกคนต้องช่วยกันอบรมนักศึกษาให้อยู่ในระเบียบวินัยอยู่เสมอ เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษาเป็นพยาบาลที่ดีและเป็นคนดีของสังคมต่อไป
2. อาจารย์ควรพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะด้านความรู้ทางวิชาการเพื่อการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญของการประกันคุณภาพ
บทเรียนที่ได้รับจากประสบการณ์ของ รศ.อรพินธ์ เจริญผล ทำให้พวกเราได้แง่คิดว่า ทุกคนต้องมีความฝัน และต้องมุ่งมั่นก้าวเดินเพื่อให้ฝันกลายเป็นจริง โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทั้งนี้ต้องมีใจรักองค์กรและเพื่อนร่วมงาน และทำงานอย่างมีความสุข ผลพลอยได้จากการถอดบทเรียนครั้งนี้ ทำให้อาจารย์ที่มาร่วมเวทีช่วยกันเปิดประเด็นและหาแนวทางว่า “จะทำอย่างไร ให้ลูกศิษย์ของเรามีระเบียบวินัยมากขึ้น” นี่คือคุณประโยชน์มหาศาลของการจัดการความรู้ ที่ไม่เพียงแต่ จัดการกับความรู้ที่มีอยู่ แต่ทำให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ และทำให้เกิดบรรยากาศของการร่วมใจ นำไปสู่การพัฒนางานและความเป็นหนึ่งเดียวขององค์กร
|