จิตทัศน์

        
Views: 4219
Votes: 0
Comments: 0
Posted: 11 Jul, 2008
by:
Updated: 20 Jul, 2008
by:

แผนที่จิตทัศน์
รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ แก้วไทรฮะ

         แผนที่จิตทัศน์ (mind map) เป็นแผนภาพที่ใช้แสดงข้อความ แนวคิด งาน หรือ อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับคำหรือแนวคิดหลักตรงกลางของแผนที่จิตทัศน์       แผนที่จิตทัศน์จะช่วยให้เห็นภาพรวม โครงสร้าง การจำแนก และการมองนัยสำคัญของแนวคิด นอกจากนั้น แผนที่จิตทัศน์ยังช่วยในเรื่องของการบันทึก    การแก้ปัญหา การตัดสินใจ และงานเขียนต่าง ๆ
         แผนที่จิตทัศน์ที่จะนำเสนอในที่นี้ คือ แผนที่จิตทัศน์ที่แสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการจะพิจารณาความสามารถในการเขียนคำบรรยายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่จะเข้าค่ายเด็กอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลของแผนที่จิตทัศน์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเขียนคำบรรยาย ๑๐ บรรทัด ดังต่อไปนี้

          ผลงานของการเขียนบรรยายของนักเรียนบางคนใช้ข้อมูลทั้งหมดมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวที่สอดแทรกความรู้และประสบการณ์ ทำให้ประเมินทักษะกระบวนการคิดได้อย่างดี ผู้เขียนได้นำแผนที่จิตทัศน์เรื่องเดียวกันนี้ให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่เรียนรายวิชาการคิดและการตัดสินใจเขียนคำบรรยาย ๒๐ บรรทัด ผลงานของนักศึกษามีความแตกต่างกันในเรื่องของหลักวิชาทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

         ตัวอย่างผลงานของนักเรียนที่สอบคัดเลือกเข้าค่ายอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กในด้านนี้

        “ แผ่นดินไหว ” เป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกเกิดการสั่นสะเทือนหรือยุบตัวลง หรืออีกสาเหตุก็คือ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหวทำให้เกิดการยุบตัวของดินอย่างรวดเร็ว ทำให้อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตึก สะพาน ถนน หรือเขื่อน ก็สามารถจะพังทลายได้ทุกเมื่อ ยิ่งมากกว่านั้น ท่อส่งแก๊ส หรือ สารเคมีบางอย่างก็อาจเกิดทำปฏิกิริยาเคมีจนสามารถก่อแรงระเบิดได้ ซึ่งก็นำมาสู่การสูญเสียทั้งบุคคลอันเป็นที่รักหรือทรัพย์สมบัติ
         ในปัจจุบัน “เรื่องของแผ่นดินไหว “ มนุษย์เราก็สามารถที่จะรับมือได้ โดยการใช้เครื่องวัดทางธรณีวิทยา โดยจะวัดแรงสั่นสะเทือนออกมาเป็นมาตราหน่วยของริกเตอร์ ทำให้ประชาชนในแถบการเกิดแผ่นดินไหวสามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน แต่อย่างไรก็ตามที่มีการพยากรณ์ว่าจะเกิด “ แผ่นดินไหว ” ครั้งใหญ่จนไม่สามารถรับมือได้ หากเรายังใช้ดินหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึง “ ดินที่ยุบตัวลงทุก ๆ วัน ” สำหรับผมแล้วทางที่ดีที่สุดคงเป็นการปลูกต้นไม้ เพื่อยึดความแน่นของพื้นดิน ...ซึ่งคุณก็ทำได้

         ตัวอย่างผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งเรียนรายวิชาการคิดและการตัดสินใจ ในภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๑ และเป็นกิจกรรมในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดและลักษณะการคิด ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการคิดพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยทักษะการสื่อสาร (ฟัง พูด เขียน อ่าน พรรณนา อธิบาย นำเสนอ) และทักษะแกนขั้นพื้นฐาน (สังเกต สำรวจ ตั้งคำถาม รวบรวมข้อมูล จำแนก และจัดหมวดหมู่)

         ในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ธรรมชาติเสียความสมดุล สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ในปริมาณมาก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ก็คือ การเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ได้แก่ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม

         แผ่นดินไหวมีสาเหตุเกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่มาชนกัน หรือ เคลื่อนที่แยกออกจากกัน และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ ภูเขาไฟระเบิด การที่ภูเขาไฟระเบิดเพราะพื้นผิวโลกบริเวณนั้นมีการไหลเวียนของแมกม่า พื้นที่บริเวณนั้นมีความบางกว่าพื้นที่บริเวณอื่น ๆ จึงเกิดแรงดันของแมกม่ามากตรงบริเวณนั้น ทำให้เกิดการประทุของภูเขาไฟ ทำให้ภูเขาไฟระเบิด เกิดเขม่าควันดำมากมาย เกิดมลพิษทางอากาศ กรณีของแผ่นเปลือกโลก เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง แผ่นเปลือกโลกมาชนกัน ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ผลกระทบที่ตามมาคือ อาคารบ้านเรือนเสียหาย ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย สะพานและถนนเสียหาย การจราจรติดขัด ท่อส่งแก๊สและท่อน้ำต่าง ๆ ก็ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซม และเขื่อนอาจพังได้ และเมื่อเขื่อนพังก็จะทำให้เกิดน้ำหลาก  น้ำท่วมตามมา ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่น พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ขาดแคลนเครื่องอุปโภคและบริโภค เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น จึงต้องมีการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าของทางธรณีวิทยาว่า การเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งส่วนใหญ่เกิดที่ไหน เกิดอย่างไร มีผลกระทบมากแค่ไหน และมีวิธีการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหว จึงต้องมีการวัดการเกิดแผ่นดินไหว โดยใช้มาตราริกเตอร์ในการวัดว่าในการเกิดแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นกี่ริกเตอร์ มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและทรัพย์สิน มาตราวัดริกเตอร์จะวัดแรงสั่นสะเทือนโดยเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือน เมื่อทำการวัดแรงสั่นสะเทือนได้ในเวลาทันท่วงทีแล้ว ก็จะได้ทำการแก้ปัญหาได้ทัน จะได้ลดอัตราความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเกิดแผ่นดินไหว ลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากแผ่นดินไหว และที่สำคัญลดปัญหาที่ตามมาภายหลัง คือ การอพยพย้ายถิ่น อาชญากรรมต่าง ๆ ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติที่เราทุกคนใช้กันในการดำรงชีวิตทุกวันนั้น ควรใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และควรมีการอนุรักษ์และพัฒนาให้ทรัพยากรที่เราใช้คงอยู่กับสิ่งแวดล้อมตลอดไป 

          การใช้แผนที่จิตทัศน์มีประโยชน์มากสำหรับนักเรียนและนักศึกษา ที่จะฝึกทักษะการคิดและเขียนบรรยาย ในปัจจุบันมีการนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจในเว็บไซต์โดยแสดงเป็นแผนที่จิตทัศน์ เช่น แผนที่จิตทัศน์เกี่ยวกับ Problem Based Learning (PBL) ซึ่งเมื่อผู้อ่านวางเมาส์ไปที่ข้อมูลย่อย ๆ แล้วจะปรากฏข้อความบรรยายรายละเอียดต่าง ๆ การใช้แผนที่จิตทัศน์ในงานอื่น ๆ ยังมีอีกมาก ผู้เขียนจะได้นำเสนอในคราวต่อไป รวมทั้งเสนอผลการเสวนาของกลุ่มวิทย์พัฒนาในหัวข้อเรื่อง การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้เทคนิค PBL...

/*-------------------------------------------------------------------*/

Attached files
file kchaweewan.pdf (85 kb)
Others in this Category
document ขอเชิญสมาชิกแลกเปลี่ยนในระบบ