หน้าแรก / การจัดการความรู้ / การจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 / คณะครุศาสตร์ / กลุ่มเส้นผมบังภูเขา / ความเป็นมาของชุมชนนักปฏิบัติ (กลุ่มความรู้:เส้นผมบังภูเขา)

ความเป็นมาของชุมชนนักปฏิบัติ (กลุ่มความรู้:เส้นผมบังภูเขา)

        
Views: 690
Votes: 0
Comments: 0
Posted: 22 Jun, 2012
by:
Updated: 22 Jun, 2012
by:
 

ความเป็นมาของกลุ่มความรู้: เส้นผมบังภูเขา

            “เส้นผมบังภูเขา”  เป็นชุมชุนนักปฏิบัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการความรู้ตามแผนที่ 5 เทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพยากรการเรียนรู้ของคณะครุศาสตร์    มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดตั้งขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 2554  เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ขององค์กร ประกอบด้วยสมาชิกทั้งบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน

            การรวมตัวของสมาชิกที่มีลักษณะแตกต่างกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ตำแหน่งหน้าที่ และภาระงาน  เกิดขึ้นจากการมีความสนใจร่วมกัน ในอันที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยมุ่งเน้นประเด็นหลักในเรื่องปัญหาการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือหลักในการทำงานประจำวัน  สมาชิกบางคนใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ตามความเคยชิน ไม่เคยรู้ตนเองว่าวิธีการที่ปฏิบัติอยู่นั้น  เป็นการใช้งานอย่างขาดประสิทธิภาพ ทำให้เสียเวลาไปโดยไม่จำเป็น และผลงานไม่มีคุณภาพ จนกระทั่งมีผู้สังเกตเห็นและบอกเทคนิคหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพให้ทราบจึงมีโอกาสได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ บางคนเกิดปัญหาระหว่างการใช้งาน ต้องพึ่งพาผู้อื่นให้ช่วยแก้ไข  บางคนเกิดปัญหาและสามารถแก้ไขได้สำเร็จด้วยตนเอง บางคนค้นพบเทคนิคดีดีจากการศึกษาด้วยตนเองหรือคำบอกเล่า และบางคนมีความชำนาญในการใช้โปรแกรมบางโปรแกรมเท่านั้น ไม่สามารถใช้โปรแกรมได้อย่างหลากหลาย

            ดังนั้น การตั้งชุมชนนักปฏิบัติด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ในตัวของแต่ละบุคคลมาเติมเต็มให้แก่กันและกันด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างหลากหลาย  จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ลงได้และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของสมาชิก  รวมทั้งจะช่วยให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นของคณะครุศาสตร์

            สมาชิกร่วมกันตั้งชื่อกลุ่มว่า “เส้นผมบังภูเขา” เนื่องจากเห็นพ้องต้องกันว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นปัญหาระหว่างการใช้งานคอมพิวเตอร์นั้น เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่ไม่รู้ แต่เป็นปัญหาที่เล็กมากสำหรับผู้ที่รู้  ปัญหาเหล่านั้นเปรียบเสมือนเส้นผมเส้นเล็กๆ ที่สามารถสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประสิทธิภาพการทำงานดุจดัง “เส้นผมบังภูเขา” สมาชิกจึงกำหนดคำขวัญประจำกลุ่มเพื่อเป็นหลักการในการจัดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ไว้ว่า “Little things mean a lot”   และได้ทำการออกแบบตราสัญลักษณ์ประจำกลุ่มให้สอดคล้องกับชื่อกลุ่มดังภาพ 1

ภาพ 1 ตราสัญลักษณ์ของกลุ่มความรู้ เส้นผมบังภูเขา

 ทั้งนี้  สมาชิกกลุ่มเส้นผมบังภูเขาตั้งปณิธานว่าจะเป็นชุมชนนักปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้พัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้  และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่คณะครุศาสตร์อย่างยั่งยืน

Others in this Category
document ความรู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
document สมาชิกชุมชนนักปฏิบัติและบทบาทหน้าที่ของสมาชิก