พระประวัติพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา

        
Views: 2764
Votes: 0
Comments: 0
Posted: 30 Apr, 2012
by: สาครวรรณศักดิ์ ฝ.
Updated: 30 Apr, 2012
by: สาครวรรณศักดิ์ ฝ.
พระประวัติ
พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา


พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ เมื่อประสูติดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า เมื่อทรงพระเยาว์ทรงพระนามว่า “เป๋า” พระนามนี้ เป็นพระนามที่เรียกเล่นๆ ในหมู่พระญาติ ส่วนพระนามที่ใช้เป็นทางการทั่วไปว่า “หม่อมเจ้าหญิงสาย” เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี องค์ต้นราชสกุล “ลดาวัลย์” ณ อยุธยา (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาเอมน้อย) กับ เจ้าจอมมารดาจีน ประสูติที่วังพระบิดา ณ ตำบลท่าเตียน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๖ (รศ. ๘๒) จึงถือได้ว่าเป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๓
ก่อนที่พระบิดาจะสิ้นพระชนม์ได้ถวายพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ เป็นข้ารับใช้ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง ๓ หม่อมเจ้าหญิงจึงดำรงพระอิสริยศเป็น พระภรรยาเจ้า ชั้นหลานหลวง และอยู่ในตำแหน่งพระอัครชายาเธอ มิใช่พระมเหสีเทวีตามกฏมณเฑียรบาลราชประเพณี
๑. พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาคฯ (หม่อมเจ้าหญิงบัว)
๒. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน (หม่อมเจ้าหญิงปิ๋ว)
๓. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ (หม่อมเจ้าหญิงสาย )

เมื่อประสูติดำรงพระสกุลยศเป็นหม่อมเจ้า ทรงพระนามว่า หม่อมเจ้าสาย ครั้นทรงดำรงตำแหน่งพระอัครชายาเธอ บรรดาสกุลญาติและผู้ใกล้ชิดมักเรียกพระอัครชายาพระองค์เล็กหรือท่านองค์เล็ก เนื่องจากทรงมีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาอีก ๒ พระองค์ ที่ทรงดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอ เช่นกัน คือ พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาคฯ สกุลญาติและผู้คุ้นเคย เรียกว่า พระอัครชายาองค์ใหญ่ หรือท่านองค์ใหญ่ และ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน สกุลญาติและผู้คุ้นเคยเรียกว่า พระอัครชายาองค์กลาง หรือ ท่านองค์กลาง
พระวิมาดาเธอ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จฯเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (องค์ต้นราชสกุล “ยุคล ณ อยุธยา”) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๒๕ ทรงจบการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๗๕
๒. พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี (สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังมิได้ทรงกรม) ประสูติเมื่อ วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๒๗ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาเพียง ๕ ปี คือในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๓๒
๓. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา สิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา ประสูติ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๒๘ ทรงมีพระตำหนักอยู่ในสวนสุนันทา อยู่ทางทิศตะวันออกของพระตำหนัก พระวิมาดาเธอฯ ซึ่งปัจจุบันคือ ตึกมาลินีนพดารา โรงเรียนประถมสาธิต สิ้นพระชนม์ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๖๗ พระชนม์ ๓๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสัชนาลัย สุรกัญญา ตำหนักของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา อยู่ทางทิศตะวันออกของตำหนักพระวิมาดาเธอฯ
๔. สมเด็จฯเจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี ประสูติเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๒๙ เป็นพระราชธิดาที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัย โดยโปรดให้รับราชการในหน้าที่ ราชเลขาณุการิณีส่วนพระองค์ ตลอดจนสิ้นรัชกาล ทรงได้รับการเฉลิมพระยศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งรัชกาล ที่ ๗ ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เสด็จลี้ภัยไปประทับ ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สิ้นพระชนเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๘๓

พระวิมาดาเธอฯ ทรงรับราชการฝ่ายในเป็น พระภรรยาเจ้าทรงอิสริยศักดิ์เป็นพระอรรคชายาเธอ ในปี
พุทธศักราช ๒๔๔๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาส่วนพระองค์ขึ้นที่วังสวนดุสิต เพื่อใช้เป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถและได้เสด็จมาประทับเป็น
ปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๒ พร้อมด้วยพระมเหสีเทวี พระราชธิดาและพระสนม เจ้าจอม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวิมาดาเธอฯ และพระราชธิดาประทับที่พลับพลา และต่อมาเมื่อการก่อสร้างพระตำหนักหมู่ได้แล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระวิมาดาเธอฯ และพระราชธิดาประทับที่ตำหนักสวนบัว และพระราชทานตำหนักสวนบัวเปลวซึ่งอยู่ใกล้ตำหนัก สวนบัวชิดกำแพงด้านหลังวังสวนดุสิต สำหรับเป็นห้องเครื่องต้น ในการปรุงพระกระยาหารถวายพระบรมราชสวามี ในฐานะทรงทำหน้าที่กำกับดูแลห้องเครื่องต้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ พระวิมาดาเธอฯ ได้ประทับกับพระราชโอรส คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ณ วังลดาวัลย์ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) ทรงประชวรด้วยโรคปัสสาวะหวาน และการพักผ่อนที่ทรงโปรดปรานมากที่สุดก็คือการปลูกต้นไม้ เมื่อทรงหายประชวรแล้ว ทรงเห็นว่าวังที่เคยประทับอยู่มีเนื้อที่บริเวณน้อย ไม่พอกับการปลูกต้นไม้ พระองค์จึงคิดหาที่ประทับให้เพลิดเพลินพระทัยปลูกต้นไม้ยามว่าง จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะเสด็จมาประทับ ณ สวนสุนันทาแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้ว พระบรมวงศ์ฝ่ายในและเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีความประสงค์จะเข้ามาอยู่ ก็ได้ตามเสด็จพระวิมาดาฯ ในคราวเดียวกัน

เอตทัคคะ ทางด้านการทำกับข้าว
เนื่องด้วยพระวิมาดาเธอฯ ประสูติในราชสกุลวงศ์ จึงทรงได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดีตามแบบอย่างกุลสตรีในยุคสมัยนั้น เมื่อทรงเจริญพระวัยทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระอัครชายาเธอ และได้รับราชการ ในหน้าที่กำกับดูแลห้องเครื่องต้น ได้ทรงพัฒนารูปแบบการประกอบอาหารและงานประดิษฐ์ต่างๆ ให้หลากหลายและวิจิตรบรรจงมากขึ้น จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น “เอตทัคคะทาง ด้านการทำกับข้าว” และได้ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ในหน้าที่กำกับดูแลห้องเครื่องต้นถวายพระพุทธเจ้าหลวงตราบจนสิ้นรัชกาล
ในการดูแลห้องเครื่องต้น พระวิมาดาเธอฯ ได้ฝึกให้หม่อมเจ้าหญิงลูกๆหลานๆ มีหน้าที่ในห้องพระเครื่องต้นไทย แบ่งฝ่ายกันดูแผนกยำ แผนกคาวหวาน แยกกันไป พะวิมาดาเธอฯ ได้ปรุงแต่งรสชาติ ค้นคิดและดัดแปลงชนิดของพระกระยาหารให้มีความหลากหลาย รวมทั้งการจัดแต่งให้สวยงามเมื่อจะเทียบโต๊ะเสวย เรื่องของห้องเครื่องต้นเป็นงานหนักสำหรับพระวิมาดาเธอฯมาก เงินหลวงพระราชทาน ปีละเก้าพันบาท เลี้ยงพร้อมพระองค์รักษ์เวร มหาดเล็ก กรมวังเวร ทหาร รักษาวังเวร และ แขกพิเศษ เงินหลวงจ่ายจึงไม่พอกับที่ได้รับพระราชทาน แต่ก็มิได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ พระวิมาดาเธอฯก็ทรงเอาเงินส่วนพระองค์จ่ายเพิ่มเติม เพราะผู้คนของพระวิมาดาเธอฯ เอง ก็ร่วมกินอยู่ในห้องต้นเครื่องด้วย แยกจ่ายต่างหากไม่ออก จะขอพระราชทานเพิ่มเติมอีกก็เห็นว่าจะเป็นโลภไป เพราะเหตุที่แยกบัญชีไม่ออกเช่นนี้ ท่านจึงตัดสินพระทัยไม่กราบบังคมทูล เมื่อเงินส่วนพระองค์ของท่านเอามาจ่ายเพิ่ม ทางห้องเครื่องเสียแล้ว เงินใช้จ่ายส่วนพระองค์ก็ไม่พอใช้จ่าย
จนกระทั่งในที่สุดก็ทรงขายตึกแถวบริเวณท่าเตียนของพระองค์ เพื่อทรงนำไปใช้จ่ายเพิ่มเติม หนักเข้าสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งขณะนั้นยังคงดำรงพระยศเป็นกรมหลวง ได้ทรงเอาพระธุระกราบบังคมทูลให้ทรงทราบความจริง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงพระราชทานเงินเพิ่มค่าเครื่องต้นให้ อีกทั้งยังทรงพระราชทานที่ดิน บริเวณสวนมะลิ ให้เป็นการชดเชยกับตึกที่ขายไปด้วย ที่ดินดังกล่าวมิได้พระราชทานแก่พระวิมาดาเธอฯ โดยตรง แต่ พระราชทานให้กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เพื่อสร้างพระราชวัง ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์อื่นๆ
พระสติปัญญาของพระองค์นั้นปรากฏหลักฐาน มื่อพระชนม์ ๙ พรรษาว่า ใน พ.ศ. ๒๔๑๕ มีการทำพิธีสมโภชเดือนพระธิดาในพระอัครชายาเธอพระองค์กลาง จึงได้โปรดฯ ให้มีการทำขนมทับทิมลอยแก้ว ซึ่งเป็นสำรับหวานที่นิยมกันมากในสมัยนั้น แต่ผู้ทำขนมดังกล่าวพยายามปิดบังมิให้ผู้อื่นทราบวิธีการปรุง พระวิมาดาเธอฯ ก็เข้าไป ทรงสังเกตการณ์ ด้วยการเป็นลูกมือ และทรงจดจำวิธีการขนมทับทิมลอยแก้วได้ทั้งหมด
เหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งที่แสดงถึงพระสติปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าคือการในการทำบุญเลี้ยงพระ ณ วัดเบญจมบพิตร พนักงานประเคนจัดสำรับถวายพระได้ไม่ครบตามจำนวน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงโปรดฯ ให้พระวิมาดาเธอฯ ซึ่งทรงดูแลห้องเครื่องต้นแก้ไขปัญหา พระวิมาดาเธอฯ ก็ทรงให้มหาดเล็กใช้ฝาชามหงายขึ้นแทนภาชนะใส่อาหาร แล้วจัดแบ่งอาหารจากสำรับเดิมที่จัดไว้ทั้งหมดใส่ลงในฝาชามจัดแต่งถวายพระได้ทันเวลา
และสวนสุนันทาแห่งนี้เองที่เป็นแหล่งกำเนิด น้ำพริกลงเรือ อันลือชื่อ ซึ่งเป็นอาหารชั้นหนึ่งของไทย ในเรื่องนี้ หม่อมราชวงศ์ สุมาลย์มงคล โชติกเสถียร ได้กล่าวถึงชื่อน้ำพริกลงเรืออันมีประวัติมาจากท่านมารดาเล่าว่า เริ่มมาจาก สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมหลวงอู่ทองเขตรขัตติยนารี กับพระวิมาดาเธอฯ มีพระประสงค์จะทรงเรือเล่นในสระสวนสุนันทาซึ่งร่มรื่น จึงมีพระราชประสงค์กับเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ว่าอยากจะมีพระกระยาหารไปกับเรือด้วย ซึ่งทางเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับก็ได้คิดทำน้ำพริกลงเรือนี้ขึ้น และปรากฏเป็นที่ถูกพระทัยและถูกปากของผู้ที่โดยเสด็จโดยทั่วกัน จึงได้ขอตำราทำกันต่อๆมา


พระจริยวัตร
พระวิมาดาเธอฯ ทรงเป็นผู้เข้มงวดและเคร่งครัดในการทำงานเป็นยิ่งนัก ข้าหลวงทุกคนมีงานทำทั้งวัน ได้มีการกล่าวถึงพระวิมาดาเธอฯ ว่า “ท่านละเอียดมาก มีงานวันยังค่ำ ท่านหาเรื่องทำของท่านไป แต่เวลาไปโรงเรียน เราก็ต้องไป กลับมาก็มีเรื่องทำ ท่านไม่ให้อยู่เฉยเลย เพราะว่าท่านไม่บรรทมกลางวัน หาเรื่องทำแต่งานข้าหลวงเยอะ รื้อนั่นทำนี่ มหาดเล็กเข้าออกได้เช่นมาทำความสะอาด รื้อยกข้าวของประเภทงานหนักๆ สิ่งที่ทำเป็นประจำทุกวัน คือ ร้อยมาลัย ร้อยดอกไม้ทุกวัน เพราะสวนสุนันทามีดอกไม้มาก”
พระวิมาดาเธอฯ จะทรงควบคุมชี้แนะให้ข้าหลวงจัดดอกไม้ ร้อยมาลัยได้อย่างสวยงาม จนปรากฏว่าบรรดาข้าหลวงในพระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ได้รับหน้าที่ร้อยมาลัยสำหรับพระราชพิธีในวังหลวงเป็นประจำ เช่น พวงมาลัยพระแสง มีมากมายหลายพวง ระย้าใหญ่ๆ อุบะ หรือเย็บแบบ ฯลฯ
นอกจากงานเย็บปักถักร้อยแล้ว ที่หน้าสนามตำหนักพระวิมาดาเธอฯนั้น ได้มีการเล่นกีฬาสมัยใหม่ คือ แบดมินตัน และเทนนิส นอกจากนี้ก็ยังมีการฉายภาพยนตร์ มีหุ่นกระบอกเข้าไปแสดงเพื่อความพักผ่อนหย่อนใจ พระเจ้าลูกเธอแต่ละตำหนักจึงมีการพบปะสังสรรค์ใกล้ชิดกันอยู่ตลอดเวลา

พระวิมาดาเธอฯ กับงานดนตรี
ดนตรีในสมัยที่สวนสุนันทาเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวงดนตรีของแต่ละตำหนักที่เคยมีมาแต่เดิมก็ได้ติดตามเข้ามาในสวนสุนันทาด้วย ได้แก่ วงดนตรีของตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ ที่รวมวงบรรเลงกล่อมเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร นักร้องที่มาขับร้องกล่อมในระยะแรกนั้น เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เล่าว่านักร้องคนแรก คือ แม่เป้า มุสิกะ พระพี่เลี้ยงรองของสมเด็จหญิงพระองค์น้อย ซึ่งแม่เป้านี้อ่านหนังสือไม่ได้ พระวิมาดาเธอฯ ต้องบอกบทให้ร้อง โดยนำเรื่องอิเหนามาร้องตั้งแต่เล่มแรก บทเพลงก็ตามเรื่อง พอหลายคืนต่อกันและคืนหลายชั่วโมง พระวิมาดาเธอฯ จึงทรงเลือกข้าหลวงที่ควรมาช่วยร้องถวายอีก ประกอบด้วย แม่เยื้อน รัตนชัย ผู้เคยเป็นคนแห่และต้นเสียงหุ่นกระบอกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรสิริประสาธน์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคุณจอมมารดาเกษร (หม่อมราชวงศ์เกสรสนิทวงศ์) หม่อมราชวงศ์ชมยินดีสุบรรณ เป็นผู้ที่อ่านหนังสือได้ดีและช่วยบอกบทให้แม่อบ อมาตยกุล รวมเป็น ๔ คนที่ช่วยกันขับร้องถวาย โดยมีพระวิมาดาเธอฯ เป็นผู้ดูแล และมีหลักฐานปรากฏว่าพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นผู้มีบทบาทในการบรรจุเพลงในบทพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า รวมทั้งสอนข้าราชบริพารของพระวิมาดาเธอฯ ให้ขับร้องและบรรเลงจนจบเรื่อง ผู้ที่เรียนดนตรีและขับร้องประกอบด้วย หม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ นางสาวเยี่ยม ณ นคร นางสาวท้วม ประสิทธิกุล และผู้ที่เคยร้องอยู่เดิม เช่นหม่อมราชวงศ์ชมยินดี สุบรรณ แม่อบ อมาตยกุล เป็นต้น
ต่อมา พระวิมาดาเธอฯ ได้เสด็จออกไปประทับกับพระโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ที่วังลดาวัลย์ ซึ่งที่วังนี้มีวงปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียง ควบคุมวงโดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ทำให้วงดนตรีของพระวิมาดาเธอฯ สลายตัวลง ต่อมาเมื่อพระวิมาดาเธอฯ กลับมาอยู่ในสวนสุนันทา บรรดาข้าหลวงเก่า ๆ ก็รวมวงกันมาเล่นดนตรีเป็นครั้งคราว

บริเวณห้องโถงชั้นล่างของพระตำหนัก ส่วนที่ต่อกับระเบียงทางเข้า พระองค์จะประทับนั่งพร้อมกับทรงชี้แนะ เพลงที่ทรงให้ข้าหลวงขับร้องและบรรเลง ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงสนพระทัยในด้านดนตรีไทย พระองค์ก็ได้นำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ดังจะเห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยไข้มาลาเรีย และเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต โดยมีพระวิมาดาเธอฯ เป็นผู้ถวายการรักษาพยาบาล พระองค์ได้โปรดฯ ให้ข้าหลวงขับร้องเพลงเพื่อขับกล่อมพระบรรทมโดยให้ข้าหลวงอยู่ในระยะห่าง เพื่อมิให้เป็นที่รบกวนพระองค์ท่าน
แต่ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ทรงฝึกซ้อมดนตรีไทย พระวิมาดาเธอฯ ก็ทรงห้ามด้วยทรงเกรงข้อครหาว่า เพื่อให้เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากในระหว่างนั้นดนตรีไทยเป็นที่พระราชนิยม และต่อมาเมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวเล่าลือเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ามีพระราชประสงค์จะใกล้ชิดกับสมเด็จฯเจ้าฟ้านิภานภดล พระวิมาดาเธอฯก็ทรงพาสมเด็จหญิงทั้งสองพระองค์ไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน เนื่องด้วยระมัดระวังมิให้เป็นที่ครหาว่าไม่สมควรเปิดตัวให้บุรุษคบหาสมาคม แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว การเข้าสมาคมของสตรี เป็นคุณสมบัติของสตรีชั้นสูงและชั้นกลาง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพยายามสนับสนุนให้สตรีมีบทบาทเพื่อแสดงถึงความเป็นสังคมอารยะของไทย
ตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ ในสมัยนั้นเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่กุลสตรีที่ไม่มีสถานที่ใดสู้ได้ จึงมีผู้พาลูกหลานเข้าถวายตัวด้วยจำนวนมาก ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้เขียนไว้ในบทความสยามสังคีตถึงพระวิมาดาเธอฯ ว่าได้ทรงส่งเสริมให้กุลสตรีไทยได้มีการศึกษาในแขนงวิชาการต่าง ๆ จนได้ชื่อเสียงว่าการศึกษาสตรีในวังในสมัยนั้นไม่มีสถานที่ใดสู้ของท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่าง การบริบาล การครัวและอาหาร ตลอดจนถึงการดนตรี
พระวิมาดาเธอฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภาดลฯ ทรงเป็นพระธุระจัดการในกิจการต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องพระราชนิพนธ์ เรื่องเงาะป่า ทั้งในการจัดการเรื่องจัดหาข้าหลวงและครูดนตรีมาฝึกหัดขับร้องบรรเลง เรื่องเงาะป่า คัดลอกรวบรวม ทำเล่มบทละครทั้งหมด พระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า จึงถือเป็นลิขสิทธิ์ในพระองค์ทั้งสอง และเป็นกิจการสำคัญในพระตำหนักจนทำให้เป็นบทเรียนดนตรีสำหรับข้าหลวงที่มาถวายตัว คนไหนหน่วยก้านดีทางการร้องและบรรเลงดนตรีได้ฝึกหัดและจัดแสดงถวาย ข้าหลวงในครั้งนั้นที่สืบประวัติได้ว่ามีความสามารถในการขับร้องเพลงจากพระราชนิพนธ์เงาะป่าได้เป็นอย่างดี

การจัดตั้งโรงเลี้ยงเด็ก
ประสบการณ์จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเพราะการเจ็บป่วยเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ทรงมีประสบการณ์ในเรื่องความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่มีสาเหตุจาการเจ็บป่วย เช่น พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ที่ทรงสูญเสียพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรีจากพระประชวรเมื่อมีพระชันษาเพียง ๕ ปี จึงเกิดแรงบัลดาลใจในการสร้างโรงเสี้ยงเด็กเพื่อให้การดูแลเด็กที่ยากไร้
พระวิมาดาเธอฯ ทรงเป็นผู้ก่อกำเนิดโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย มีพระราชดำริว่าในขณะที่พระองค์เป็นผู้มีทรัพย์สินที่สามารถดูแลเลี้ยงดูพระธิดาได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะช่วยชีวิตพระธิดาจากการประชวรและสิ้นพระชนม์ได้ ถ้าหากคนที่ยากจนกว่านี้พ่อแม่ต้องดิ้นรนทำมาหากินคงจะไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดีได้ จะทำให้บุตรของคนเหล่านี้เติบโตโดยไม่มีผู้ไดอบรมสั่งสอน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในภายหลัง
พระองค์จึงพระราชทานทรัพย์เป็นทุนในการซื้อที่ดินและตึกที่ตำบลสวนมะลิ เพื่อปรับปรุงและจัดตั้งเป็นโรงเลี้ยงเด็กขึ้น เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๓ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นผู้อำนวยการ พระองค์ได้ทรงตั้งกฎในการรับนักเรียนไว้ว่า เด็กที่จะรับต้องเป็นเด็กกำพร้า หรือไร้ญาติมิตร พ่อแม่เป็นคนจนหรือทุพพลภาพ ซึ่งจะรับทั้งเด็กหญิงเด็กชายตั้งแต่เด็กอ่อนจนถึงอายุ ๑๑ปี สำหรับเด็กหญิง และ ๑๓ ปี สำหรับเด็กชาย โดยจะให้เด็กเรียนวิชาเฉพาะสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพต่อไป คือถ้าเด็กต้องการจะเป็นเสมียนก็จะให้ศึกษาวิชาหนังสือจนแตกฉาน ถ้ารักในการช่างก็จะฝึกหัดในทางช่าง และวิชาความรู้เบื้องต้นที่นักเรียนมี
๑.ให้อ่านหนังสือออกเขียนได้ ๒.ให้คิดเลขได้
๓.ให้รู้จักกิริยามารยาทในการเข้าสมาคม ๔. หุงอาหารเป็น
๕. เย็บปักถักร้อยได้ ๖. ขึ้นที่สูงเป็นเช่นต้นไม้
๗. ให้ว่ายน้ำได้ ๘. ให้รู้จักปลูกทับกระท่อมที่อยู่อาศัย
๙. ให้รู้จักปลูกต้นไม้ต่างๆ ๑๐.ให้รู้จักเลี้ยงสัตว์
เด็กดังกล่าวจะได้รับการดูแล เป็นอย่างดีทั้งด้านอาหารและ เครื่องนุ่งห่ม การรักษาพยาบาล ที่พำนักหลับนอนโดยผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จนกระทั่งอายุครบตาม กำหนดพอที่จะประกอบอาชีพได้ โรงเลี้ยงเด็กก็จะคืนเด็กให้กับผู้ปกครอง โรงเลี้ยงเด็กได้เลิกกิจการในพ.ศ.๒๔๕๔เพราะในระยะหลังนักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกผู้มีฐานะดีซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง ซึ่งพระกรณียกิจนี้ถือเป็นรากฐานของกิจการกรม ประชาสงเคราะห์ในปัจจุบัน

กำเนิดโรงเรียนนิภาคาร
ในเรื่องการฝึกอบรมกิริยามารยาท และคุณสมบัติของการกุลสตรีนั้น พระวิมาดาเธอฯ ทรงสั่งสอนอบรมผู้อื่นให้สนใจ และหมั่นฝึกฝนในกิจการ และคุณสมบัติ อันเป็น กุลสตรี ทรงเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผน และกวดขันในเรื่องจรรยามารยาทด้วย ทรงประทานการศึกษาในวิชาความรู้ และการฝีมือพร้อมทั้งอบรมจริยามารยาทให้เรียบร้อยสมกับความเป็นกุลสตรีที่แท้จริง
...จนเป็นที่เลื่องลือในยุคนั้นว่า กุลธิดาที่ได้ผ่านเข้ามาอยู่ในพระตำหนักพระวิมาดาเธอฯแล้ว เป็นต้องได้ รับการอบรม ให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ สมแก่ความเป็นกุลสตรี โดยเหตุนี้ บรรดาบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีศักดิ์มีสกุลทั้งปวงในยุคนั้นจึงนิยมส่งธิดาเข้าไปถวายตัวให้ทรงชูชุบอุปถัมภ์เป็นจำนวนมาก แม้พระบรมวงศ์ซึ่งดำรงเกียรติอันสูงส่ง เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้ส่งพระธิดาไปถวายให้พระวิมาดาเธอฯ ทรงอุปถัมภ์บำรุงและอบรมสั่งสอน ถึง ๒ พระองค์
สำหรับ สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารีนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ไปศึกษาตามโรงเรียน เพราะไม่มีพระราชนิยมให้ พระราชธิดา ออกไปทรงศึกษานอกพระบรมมหาราชวัง แต่ก็ได้ทรงหาครูและอาจารย์ทั้งไทยและเทศ ให้เข้ามาทรงถวายพระอักษรพระราชธิดาทุกพระองค์ และแต่ละพระองค์ก็ทรงคุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศ ตลอดจนทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านภาษาไทยอย่างสูง มีเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงกระทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการินีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งสุดท้าย ได้มีพระราชหัตถเลขาประทานสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองฯอยู่ตลอดเวลา จนสามารถรวบรวมเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ได้ถึงสองเล่ม ชื่อว่า “ไกลบ้าน” นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าที่น่าศึกษามากเล่มหนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองทรงมีพระวิริยะมาก และโปรดให้เด็กของท่านได้อ่านหนังสือและทำการฝีมือโดยไม่นั่งอยู่เฉยๆ ท่านยังทรงสอนให้อ่านภาษาบาลีให้ถูกต้องด้วย ทรงฝักใฝ่ในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ข้าหลวงบางคนถูกส่งไปเรียนวิชาพยาบาล
นอกจากนั้นยังทรงตั้งโรงเรียนประถมศึกษา ขึ้นบริเวณพระตำหนักสมเด็จฯเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา โรงเรียนนี้มีชื่อว่า “โรงเรียนนิภาคาร” เพื่อให้การศึกษาแก่บรรดาข้าหลวงทั้งหลาย หลักการเช่นเดียวกับโรงเลี้ยงเด็กคือ ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ การเรียน ฯลฯ แต่อย่างใด ทรงสอนจนนักเรียนจบชั้นมัธยมหกเป็นรุ่นแรก ทั้งยังทรงเคร่งครัดในเรื่องการเรียนภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การออกเสียงตัว “ร” ตัว
“ล” คำควบกล้ำ รวมทั้งการใช้คำสันทาน คำบุพบทให้ถูกต้อง ส่วนภาษาอังกฤษได้ทรงจ้างหญิงสาวเป็นแหม่ม
ครึ่งชาติชื่อ Miss Archer ภายหลัง Miss Archer ทำการสมรสและไปเมืองนอก จึงได้ทรงจ้างครูฝรั่งแท้ ชื่อ Miss Pope มาสอน เมื่อได้ชั้น ๖ แล้ว ก็ทรงเลือกนักเรียนเก่ง ไปสอบที่โรงเรียนสายปัญญา ถ้าสอบได้ก็ทรงทำเข็มกลัดแจกเป็นรางวัลแก่ผู้สอบได้
ในยามหัวค่ำก็โปรดฯให้ข้าหลวงรุ่นเด็กทั้งหมดเข้าแถวต่อหน้าพระพัตร์ สวดมนต์ทำนองสรภัญญะ โดยพระองค์จะประทับที่บนตั่ง ในขณะที่ข้าหลวงทั้งหมดยืนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบหันหน้าเข้าหาพระองค์ นับเป็นวิธีกล่อมเกลาจิตใจด้วยการน้อมนำเข้าสู่พระพุทธศาสนาและฝึกการออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้องเหมาะสม
พระวิมาดาเธอฯ ทรงกวดขันทางวาจามาก สำหรับพระองค์เองไม่ปรากฏว่าเคยล้อหลอกใคร ไม่เสียดสี ไม่โปรยประโยคเพ้อเจ้อ ไม่หยาบคะนอง ทรงตั้งอยู่ในกรมบทสิบข้ออย่างแน่วแน่ สำหรับผู้อื่นก็ทรงกวดขันในเรื่องการใช้วาจามาก เช่น จะพูดถึงสิ่งที่มาก นับจำนวนไม่ได้ จะพูดเยอะแยะไม่ได้ สมัยนั้นมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าทรงได้ยินใคร เรียกว่าโรงพยาบาลจุฬาเฉยๆ จะกริ้วทันที ต้องพูดให้หมดว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การไปที่ใด เมื่อถามก็ต้องตอบชื่อ สถานที่ไปให้เต็ม

การแต่งกาย
ในสมัยของพระวิมาดาเธอฯนั้น ทั้งเจ้านายและข้าหลวงนุ่งผ้าโจงกระเบนทุกองค์ / คน ไม่นุ่งผ้าลาย เพราะพระวิมาดาเธอฯ ไม่โปรด ไม่ห่มผ้าแถบ แต่ใส่เสื้อเป็นคอชวาบ้าง เป็นคอตัววีบ้างและติดลูกไม้ตามแขน บั้นเอว ต่อมาอีกระยะหนึ่งจึงเปลี่ยนจากโจงกระเบนเป็นผ้าถุงสำเร็จ พระวิมาดาเธอฯ ทรงโปรดสีน้ำเงินอ่อน เพราะประสูติวันศุกร์ การจัดทำพิธีใดๆก็ตาม มักทรงเลือกสีวันประสูติเป็นเกณฑ์
พระวิมาดาเธอฯนั้น ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย ดังจะเห็นได้จากข้อความของเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ว่า “...ตอนเช้าพระวิมาดาเธอฯ ท่านตื่นบรรทมก่อน ต้องทรงย่องออกมาที่เฉลียงหน้าห้องบรรทม เชิญเครื่องพระสำอางออกมาประทับสรงพระพักต์ เร็วปุบปับๆ ... ทรงสางพระเกศา ประแป้ง แล้วก็ลูบๆ แทบจะไม่ต้องทรงพระฉาย ความที่ท่านเคยกับความเร็วๆไปหมดทุกอย่าง จึงไม่ใคร่สนพระทัยกับการแต่งพระองค์ให้สวยงาม...”
พระองค์มักสวมเสื้อแขนสั้นแบบเรียบสีขาว ทรงโจงกระเบนผ้าลายหรือผ้าพื้น เมื่อจะเสด็จนอกพระราชฐาน จึงจะทรงสวมเสื้อประดับลูกไม้และทรงโจงกระเบนตามแบบเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้ว่าในระยะนั้นสตรีชั้นสูง และสตรีชั้นกลางส่วนใหญ่จะนิยมนุ่งซิ่นแล้วก็ตาม สำหรับผ้าโจงกระเบนที่ทรงนั้นจะต้องผ่านการซักหลายครั้งจนเนื้อนุ่มเสียก่อน โดยไม่จำกัดสี ยกเว้นวันธรรมสวนะ จึงจะทรงผ้าโจงกระเบนสีแดง ซึ่งก็เป็นตามระเบียบแบบแผนเดิมว่าในวันดังกล่าว พระบรมวงศานุวงศ์ จะทรงผ้าโจงกระเบนสีแดง

การเลื่อนพระอิสริยยศ
ด้วยพระสติปัญญา พระปรีชาสามารถในด้านการเรือน และความภักดีที่ทรงถวายปรนนิบัติต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับการสถาปนาเลื่อนขั้นเป็นลำดับ คือ เมื่อพระชนมายุ ๒๕ พรรษา (พ.ศ. ๒๔๓๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ และเมื่อพระชนมายุ ๖๒ พรรษา (พ.ศ. ๒๔๖๘) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

ช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
ในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ พระวิมาดาเธอฯทรง ประชวรด้วยโรคมะเร็งในพระโอษฐ์ ต้องทรงพักรักษาพระองค์ เป็นเวลานาน เป็นที่ห่วงใยของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงเธอกรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้เสด็จเยี่ยมที่พระตำหนักทุกวัน และโปรดให้หลวงนิตยเวชวิศิษฐ์ เป็นแพทย์ผู้ถวายการรักษา
พระตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ ได้กลายเป็นศูนย์รวม ของพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางของ วัฒนธรรมไทยถึงสองแผ่นดิน คือ ในรัชกาลที่ ๖ – ๗ โดยมี พระวิมาดาเธอฯ ทรงเป็นร่มโพธิ์ทองของชาวสวนสุนันทา ตราบ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักที่ประทับเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สิริพระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาสรงน้ำพระศพ และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เชิญพระศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระกรุณา พระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ และเมื่อถึงงาน พระราชทานเพลิงศพ ก็ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระโกศทองใหญ่ ซึ่งโดยราชประเพณีใช้สำหรับทรงพระบรมศพ สมเด็จ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีเท่านั้น มาทรง พระศพ ในการพระราชกุศลออกพระเมรุและในการเชิญพระศพ สู่พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง นับเป็นการถวายพระเกียรติยศ สูงยิ่งกว่าพระอัครชายาทั้งปวง
เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ ได้กล่าวว่า “พระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระเกียรติแก่พระศพ พระวิมาดาเธอฯ สูงกว่าที่พระมเหสีชั้นอัครชายาเคยได้รับ พระศพที่ทรงพระโกศทองน้อย เมื่อเวลาประดิษฐาน และทรง พระโกศทองใหญ่เวลาออกพระเมรุนี้ อยู่ในระดับสมเด็จเจ้าฟ้า ที่ร่วมพระชนนีเดียวกันกับพระเจ้าแผ่นดินทีเดียว” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า พระวิมาดาเธอฯ ทรงมีความสวามิภักดิ์ต่อเบื้อง พระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิราชของพระองค์ อย่างยิ่ง ดังนั้นจึงถวายพระเกียรติแก่พระศพอย่างสูง และขณะเมื่อท่านยังดำรงพระชนม์อยู่ ก็ได้ถวายพระเกียรติให้เป็นที่ ประจักษ์โดยได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศให้สูงขึ้นเป็น กรมพระ และถวายสร้อยพระนามกรมว่า ปิยมหาราช ปดิวรัดา ซึ่ง หมายความว่า ทรงเป็นพระมเหสีที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช
ส่วนตำหนักนี้ ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นโบราณสถานของชาติ และได้ใช้เป็นอาคารของศูนย์มรดกทาง วัฒนธรรม หรือ “ตำหนักสายสุทธานภดล” เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป
Others in this Category
document ประวัติสวนสุนันทา
document พรรณไม้ และภาพเขียนสีน้ำของพระวิมาดาเธอฯ
document บุคคลที่เกี่ยวข้อง กับพระวิมาดาเธอฯ