|
||
ประวัติสวนสุนันทา
พระราชดำริในการสร้างสวนสุนันทา หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯกลับจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงตั้งพระทัยที่จะสวนป่า เนื่องจากทรงเห็นว่า พระราชวังของเจ้านายราชวงศ์ในยุโรปมีสวนเที่ยวเล่น โดยโปรดเกล้าฯให้ขยายเขตพระราชวังสวนดุสิตไปทางด้านหลัง จัดทำเป็นสวนประจำพระราชวังเพื่อประทับพักผ่อน และพระราชทานนามว่า สวนสุนันทา ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ หลังจากเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ก็ได้ทรงจัดวางแบบการสร้างสวนสุนันทา ที่ทรงตั้งพระทัยจะให้เป็นสวนป่าทันที ทรงให้ทำประตูจากถนนบ๋วยในพระราชวังดุสิตไปสู่สวนสุนันทา เรียกว่าประตูสี่แซ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า ประตูสุนันทาทวาร เขตพระราชฐานสวนสุนันทานี้ ทรงตั้งพระทัยจะให้เป็นที่สงบเหมาะสำหรับออกไปประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ นอกจากนี้ ทรงสร้างไว้เพื่อในวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าสิ้นรัชสมัยของพระองค์แล้ว บรรดาเจ้าจอมที่มีพระราชธิดาและบรรดาเจ้าจอมจะลำบาก นับว่าเป็นการเสียพระเกียรติยศด้วย การดำเนินงานจัดสร้างสวนสุนันทาในครั้งนั้น คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลเป็นผู้รับพระราชกระแสดำเนินการ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่อีก ๒ ปีต่อมา คือ วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต การก่อสร้างต่างๆจึงยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ กิจการต่างๆ จึงถูกระงับไว้ชั่วคราว พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงรับเป็นพระราชธุระให้มีการดำเนินการก่อสร้างต่อมา โดยมีเจ้าพระยายมราชเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างตำหนัก ในพ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างสวนสุนันทาและพระตำหนักต่างๆในสวนสุนันทา รวม ๓๒ ตำหนัก สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ได้กระทำการสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ และในปี ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างท้องพระโรงขึ้นในบริเวณสวนสุนันทา และได้กระทำการเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่มาของชื่อ “สวนสุนันทา” การที่ทรงจัดสร้างสวนสุนันทา และทรงใช้ชื่อว่า “สวนสุนันทา” ก็ด้วยความรำลึกถึงพระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จึงทรงใช้ชื่อ “สวนสุนันทา” เป็นอนุสรณ์ จากการสัมภาษณ์เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕ กล่าวว่า ...เพราะเหตุที่...สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระองค์นี้เป็นมเหสีใหญ่ โปรดปรานมากพิเศษกว่าทุกพระองค์ ทีนี้เมื่อท่านไม่มีชีวิตแล้ว พระองค์ก็อยากให้มีอะไรๆ ไว้เป็นที่ระลึก ท่านทรงตั้งชื่อโรงเรียนราชินีว่า โรงเรียนสุนันทาลัย ไว้ สวนสุนันทานี่ก็เหมือนกัน...ใครๆ เข้าใจกันอย่างนั้น ท่านเรียก แม่ใหญ่ หญิงใหญ่ คิดถึงหญิงใหญ่บ้าง... (สัมภาษณ์ เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕, วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๒) คำว่า สระสุนันทา ก็ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับการก่อสร้างพระราชวังสวนดุสิต จึงเป็นที่คิดว่า พระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ไม่เคยจางไปจากพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เวลาจะล่วงมาจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ นับเป็นเวลานานถึง ๒๒ ปี แล้วก็ตาม และอีกประการหนึ่งคือ ความระลึกในองค์พระมเหสี (พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์) ซึ่งเมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้เคยโปรดสวนอันเป็นธรรมชาติน่ารื่นรมย์ จึงดลพระราชหฤทัยให้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สวนสุนันทา” เพื่อรำลึกถึงองค์พระมเหสี ซึ่งในส่วนนี้ ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้เขียนว่า ...แต่ถ้าจะพิจารณาถึงลักษณะของสวนที่ทรงมีพระราชดำริจะให้สร้างนั้นก็จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะละม้ายแม้นกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เคยโปรดทั้งในการพระราชทานชื่อก็ดูเหมือนจะได้ทรงสรรหาชื่อให้เหมาะแก่ที่จะเป็นเครื่องระลึกถึงพระปิยมเหสีทั้งในทางตรงของชื่อ และในทางเปรียบเทียบกับเรื่องรายในเทพปกรฌัม ในทางตรงของชื่อ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ได้ทรงนำเอาพระนามของสมเด็จพระปิยมเหสีมาตั้ง เช่นเดียวกับที่เคยได้ตั้งสถานศึกษาที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอนุสรณ์แด่พระนางเจ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ ส่วนในทางเปรียบเทียบกับเรื่องราวในเทพปกรฌัมนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึง “สุนันทอุทยาน” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามที่ปรากฏในเทพปกรฌัมนั้นเสียก่อน “สุนันทอุทยาน” ที่ปรากฏนั้น เป็นอุทยานอันน่ารมรื่นเป็นที่สุดมีรุกขชาติและบุปผาชาตินานาพรรณขั้นอยู่ดารดาษ ส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่วบริเวณกลางอุทยาน มีสระน้ำกว้างใหญ่ น้ำในสะอาดเย็นระรื่น และดาษดื่นด้วยบัวบุศย์เบญจพรรณอันงามวิจิตร กล่าวกันว่าเทพนารีในสรวงสวรรค์นั้นต่างได้รับความชื่นบานในยามที่ได้มาอยู่ ณ อุทยานแห่งนี้ เพราะเหตุที่อุทยานแห่งที่กล่าวนี้ เกิดขึ้นด้วยบารมีของพระนางสุนันทา อันเป็นพระมเหสีขององค์พระอมรบดี ผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์พระอมรบดีจึงให้ชื่ออุทยานนี้ว่า “สุนันทอุทยาน” เพื่อจะได้เป็นเครื่องเตือนให้เทพนารีทั้งหลายได้ระลึกในพระบารมีขององค์พระมเหสี การเสด็จเข้ามาประทับของเจ้านายฝ่ายใน ถึงแม้ว่าการก่อสร้างในสวนสุนันทาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่บรรดาข้าราชสำนักฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพอใจที่จะพำนักอยู่ในเขตตำหนักเดิมที่พระราชวังสวนดุสิตอยู่ก่อน ทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุผล คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์สมบัตินั้น พระองค์พอพระทัยที่จะประทับแวดล้อมอยู่กับข้าราชการบริพารฝ่ายนอก นานเกือบ ๑๐ ปี โดยไม่มีพระมเหสี ไม่มีเจ้าจอม อีกทั้งในบางครั้งก็ไม่โปรดที่จะประทับอยู่ในพระมหานคร มักแปรพระราชฐานไปประทับนอกพระนครบ่อยๆ ข้าราชสำนักฝ่ายในของสมเด็จพระราชบิดา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโยกย้ายเข้ามาอยู่ในสวนสุนันทาแต่อย่างใด อีกทั้ง บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ มีความพอพระทัยและพอใจกับตำหนักในเขตพระราชวังดุสิตอยู่แล้ว สวนสุนันทาจึงถูกทิ้งไว้เพราะไม่ถึงคราวจะเข้ามาอยู่ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมเหสี มีข้าราชบริพารฝ่ายในของพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในในรัชกาลที่ ๕ ก็ทยอยแยกย้ายออกมาประทับอยู่นอกพระราชวังกับ พระราชโอรสหรือพระประยูรญาติอันสนิทที่มีวังข้างนอก แต่เนื่องจากข้าราชบริพารฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีน้อย จึงยังคงมีผู้อาศัยอยู่ในพระราชวังดุสิตอยู่บ้าง สวนสุนันทาจึงกลายเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในอีกแห่งหนึ่ง ลักษณะของสวนสุนันทา อาณาเขตของสวนสุนันทาทั้งหมด มีเนื้อที่ ๑๒๒ ไร่ พื้นที่ตกแต่งเป็นโขดเขาคูคลอง มีสวนพฤกษชาติ และตำหนักเรียงรายทั่วไป มีทั้งสิ้น ๓๒ ตำหนัก มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ จดถนนซางฮี้ (ปัจจุบันเรียกว่า ถนนราชวิถี) ทิศใต้ จดถนนใบพร (ปัจจุบันเรียกว่า ถนนอู่ทองนอก) ทิศตะวันออก จดถนนดวงดาว (ปัจจุบันเรียกว่า ถนนนครราชสีมา) ทิศตะวันตก จดถนนสามเสน ทุกตำหนักมีการปลูกไม้ดอกไม้ใบอย่างงดงาม มีคลองซึ่งขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาทางเขตด้านข้างของท่าวาสุกรี และผ่านประตูน้ำแนวกำแพงสวนสุนันทาด้านตะวันตกเข้ามายังสระจากบริเวณสระใหญ่ จะมีคลองขุดเป็นแนวโค้งไปตามกำแพงไปสิ้นสุดที่ถนนดวงดาว ตามแนวฝั่งริมคลองทั้งสองฝั่งนี้ จะเป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นพระองค์เจ้า ทั้งหมด ๒๑ ตำหนัก สภาพบริเวณรอบตำหนักปลูกไม้ดอกแทบทุกประเภทงามละลานตา ไม้ดอกที่สำคัญคือ กุหลาบกล้วยไม้ ซึ่งมีทุกชนิดทุกประเภท มีเรือนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ มีกล้วยไม้ชั้นดีทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ความสวยงามของไม้ดอกไม้ใบที่ประดับประดาโดยรอบพระตำหนักยามออกดอกสะพรั่งหลายสี มีกลิ่นหอมอบอวลทั่วไป อีกทั้งยังมีเนินดินใหญ่แห่งหนึ่งมีต้นไม้หลายพันธ์ ปลูกอยู่บนเนินดินยิ่งทำให้เนินนี้ดูสูงเด่นคล้ายภูเขาธรรมชาติอันสวยงาม เนินดินแห่งนี้ เริ่มมีมาตั้งแต่การก่อสร้างตำหนักเพราะต้องมีการขุดดินบางส่วนขึ้นมา โดยเฉพาะมีการขุดสระใหญ่ ดินที่เหลือจึงนำมาถมกลายเป็นเนินเขา ข้างใต้เนินดินก็ได้สร้างเป็นอุโมงค์เอาไว้ เมื่อพระวิมาดาเธอฯ เสด็จมาประทับได้ทรงใช้อุโมงค์นี้เป็นที่เก็บข้าวของ เครื่องใช้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องต้นซึ่งทรงมีอยู่มาก ภายในสวนสุนันทามีการจัดแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยการกั้นกำแพงเป็นสองชั้น ชั้นนอกเป็นที่อยู่ของข้าราชการฝ่ายชาย อันได้แก่เจ้ากรม ปลัดกรม มหาเล็ก คนขับรถ คนงาน ส่วนชั้นในเป็นเขตที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารที่เป็นหญิงล้วน การจัดแบ่งตำหนักและอาคารยังคงถือปฏิบัติตามพระราชวังสวนดุสิตมีพระตำหนักซึ่งสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Italian Renaissance รวม ๓๒ ตำหนัก ขนาดตำหนักขึ้นอยู่กับพระอิสริยยศของแต่ละพระองค์ ซึ่งถูกจัดแบ่งดังต่อไปนี้ - ตำหนักสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ วังสระประทุม ซึ่งเป็นวังสวนพระองค์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๕ ตำหนักภายในวังสวนสุนันทาคงใช้เป็นที่ทับของพระราชธิดาบุญธรรมที่ทรงรับอุปการะ - ตำหนักพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี - ตำหนักพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ - ตำหนักสมเด็จพระน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรัสัชนาลัยสุรกัญญา - ตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ , สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยภา และเจ้าจอมมารดาอ่อน - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทัพยนิภา - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตน์ราชกุมารี - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าวรลักษณาวดี - ตำหนักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเหมวดี - เรือนเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ และเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์เฉียด ลดาวัลย์ - เรือนเจ้าจอมมารดาบางท่าน เช่น เจ้าจอมแก้ว เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมแส และเจ้าจอมเอิบในสกุลบุญนาค - เรือนท้าวโสภานิเวศ รวมทั้งเรือนของหม่อมเจ้าหญิงบางพระองค์ - พระที่นั่งนงคราญสโมสร ซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสั่งงานเอนกประสงค์ ภายในสวนสุนันทา ซึ่งชาววังเรียกกันว่า ท้องพระโรง สรุปได้ว่า เขตพระราชฐานชั้นในในพระบรมมหาราชวังเป็นที่พำนักของเจ้านายสตรีกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย เจ้าฟ้าลงมาถึงหม่อมเจ้า และสตรีที่มีตำแหน่งมเหสี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม เจ้านายกลุ่มนั้นวิถีการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ของตนเองอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในเท่านั้น มีหน้าที่ในการดูรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในทุกเรื่อง แล้วแต่จะทรงโปรด นอกจากเจ้าฝ่ายในแล้วยังมีข้าราชบริพารซึ่งเป็นสตรีล้วนทำหน้าที่ดูแลและทำงานรับใช้กลุ่มเจ้านายฝ่ายในมีทั้งข้าหลวงส่วนพระองค์และกลุ่มสตรีที่มีหน้าที่รับใช้ทั่วไป เช่น กลุ่มโขลน เป็นต้น ดังนั้นภายในเขตพระราชฐานชั้นในจึงเป็นเหมือนเมืองเล็กๆเมืองหนึ่ง ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายในประด้วยตำหนักของเจ้านายฝ่ายใน จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กขั้นอยู่กับพระอิสริยยศของเจ้านายแต่ละพระองค์ ที่ในแต่ละตำหนักมีเจ้านายฝ่ายในเป็นเจ้าของตำหนัก และมีข้าราชบริพารเป็นผู้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ตำหนักนั้น มิได้มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานศึกษาของเจ้านายสตรีที่ยังทรงพระเยาว์ และบรรดาข้าราชบริพารที่อยู่ภายในตำหนัก ที่จะต้องถูกฝึก และเล่าเรียนวิชาตามจารีตประเพณีของสตรีในแต่ละตำหนักมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันออกไป เนื่องจากสตรีกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม สตรีต้องห้าม ที่มิสามารถติดต่อกับบุรุษได้ ยกเว้นพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นในการดำเนินวิถีชีวิตบางอย่างต้องมีกฎเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด เช่น การออกนอกเขตพระราชฐาน มิได้เป็นเรื่องปกติที่จะเข้าออกได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากองค์พระมหากษัตริย์ก่อน แม้เมื่อออกนอกเขตพระราชฐานได้จะต้องมีข้าหลวงติดตาม รวมทั้งต้องอยู่ในเขตฉนวนหรือเขตที่มีม่านกั้น เพื่อมิให้ผู้ใดมองเห็นได้ การติดต่อกับบุคคลอื่นต้องผ่านคนกลาง คือ คุณเถ้าแก่ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่เป็นต้นมา เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทในราชสำนักทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆเริ่มผ่อนคลายลงไปบ้าง ประกอบกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ได้สร้างพระราชวังสวนดุสิตและสวนสุนันทา (ซึ่งมาเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทำให้เจ้านายฝ่ายในส่วนหนึ่งได้ย้ายที่ประทับออกมาที่พระวังทั้ง 2 แห่งนี้ ทำให้บรรยากาศในการดำเนินชีวิตของเจ้านายฝ่ายในดูจะผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากกฎระเบียบต่างๆมิได้เคร่งครัดเท่าในพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งเมื่อเจ้านายฝ่ายในชั้นสูงหลานพระองค์ย้ายไปประทับ ณ วังส่วนพระองค์ และวังพระโอรส ราชสำนักฝ่ายในแบบเดิมจึงค่อยๆสลายตัวลงตามกาลเวลา พัฒนาการสู่สถานศึกษา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ บรรดาเจ้านายและเจ้าจอมต่างทยอยเสด็จออกไปประทับและพำนักที่สวนนอกย่านถนนสามเสน ถนนสุโขทัย ถนนราชวิถี และถนนพิชัย ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้างก็เสด็จไปประทับที่วังของพระญาติ หรือเสด็จต่างประเทศ ยุคสมัยนั้นจึงเรียกขานกันว่า “วังแตก” หรือ “ยุคพิฆาตเจ้า” เช่น วังบางขุนพรหม วังวรดิศ วังสวนสุนันทา และวังดอกไม้ ฯลฯ เขตพระราชฐานสวนสุนันทาในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีสภาพ เป็นวังร้างอยู่หลายปี จนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ สวนสุนันทาจึงถูกแปรสภาพจากราชสำนักฝ่ายในมาเป็นสถานศึกษาของกุลสตรี ตามมติของคณะรัฐมนตรีและคณะผู้สำเร็จราชการ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน วังสวนสุนันทา ให้กระทรวงธรรมการ จัดเป็นสถานศึกษาเพื่อให้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนสตรีสายสามัญศึกษา ให้ชื่อว่า โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย บนพื้นที่ประมาณ ๖๘ ไร่ เริ่มจัดการศึกษา ๒ แผนก คือ แผนกสามัญ และแผนกวิสามัญ แผนกสามัญเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงมัธยมปีที่ ๖ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๗ – ๘ พุทธศักราช ๒๕๐๑ กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้ยกฐานะ โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย เป็น วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จัดการเรียนการสอนเป็น ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายอุดมศึกษา ฝ่ายมัธยมศึกษา และฝ่ายประถมศึกษา ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อมาเป็น สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีฐานะทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งอื่นๆ ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น ๑๐ หน่วยงาน คือ ๖ คณะ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยี และคณะศิลปกรรมศาสตร์ และมีหน่วยงานสนับสนุนสายวิชาการ ๔ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานอธิการบดี สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และสถาบันวิจัยและบริการวิชาการ พระตำหนักต่างๆภายในเขตพระราชฐานสวนสุนันทาในปัจจุบันคงเหลือเพียง ๑๐ ตำหนัก อยู่ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทารวม ๖ ตำหนัก ประกอบด้วย ๑. ตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ นิภานภดล ๒. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ๓. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์ ๔. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ๕. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ ๖. เรือนเจ้าจอมเอื้อนและเจ้าจอมแถมในสกุลบุนนาค |