|
||
คนไทยในปัจจุบันนิยมใช้บริการสื่อชนิดใหม่ เพื่อติดตามข่าวสาร เพื่อความรู้ เพื่อความบันเทิง เพื่อความผ่อนคลายไม่ว่าจะเป็นขณะที่กําลังเดินทางอยู่กับการคมนาคมอันแน่นขนัด หรือจะเป็นการใช้เวลาว่าง พักผ่อน หรือทํากิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถเปิดสื่อบันเทิงรับฟังไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง การดูสื่อจาก แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการฟังPodcast ซึ่งสื่อที่สร้างความบันเทิงนั้นมีมากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งให้ความบันเทิง หรืออาจให้ความบันเทิงแต่สามารถแฝงความรู้เข้าไปด้วยได้ ในกรณีของ ความรู้ทางวัฒนธรรม (Cultural Knowledge) ซึ่งหมายถึง ข้อมูลหรือ สารเทศทางวัฒนธรรมที่เป็นผลผลิตปัญญาอันทรงคุณค่าของมนุษย์ที่เกิดจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ความรู้ ความคิด ทักษะ ประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยม และการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดปัญญาและมนุษย์สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยความรู้ทางวัฒนธรรมสามารถแบ่งออกเป็น 1.ความรู้ทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Cultural Knowledge) เป็นความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ที่สามารถมองเห็น สัมผัส หรือจับต้องได้ มีลักษณะเป็นกายภาพ (Tangible) เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศิลาจารึก พงศาวดาร หนังสือ ตำรา เป็นต้น ซึ่งความรู้ทางวัฒนธรรมประเภทนี้ค่อนข้างยากต่อการสูญหาย และ 2.ความรู้ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Knowledge) คือ ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ไม่สามารถมองเห็น สัมผัส หรือจับต้องไม่ได้ มีลักษณะไม่เป็นกายภาพ (Intangible) เช่นภาษาประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือ เป็นต้น ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ การเรียนรู้ การฝึกฝน การอบรม ตลอดจนพรสวรรค์ต่าง ๆ ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งความรู้ประเภทนี้มีโอกาสที่จะสูญหายได้ง่ายกว่าความรู้ชัดแจ้งเนื่องจากความรู้ประเภทนี้มักฝังอยู่ในตัวคน (Embodied Knowledge) หรือผู้สืบทอดวัฒนธรรม หากขาดการสืบทอดความรู้ดังกล่าวก็จะสูญหายไปในที่สุด และการนำเสนอผ่านช่องทางการสื่อสารอนนไลน์รูปแบบใหม่ จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการนำเสนอกว้างขวางมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกระดับทุกช่วง อายุ เพศ และวัย จากเหตุผลข้างต้น บุคลากรสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้เห็นพ้องกันว่า ข่าวสาร สารคดี สิ่งที่นำเสนอความรู้ต่าง ๆ ที่เคยผ่านช่องทางแบบเดิม สามารถปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย ด้วยการนำเสนอผ่านการผลิตลงสู่ช่องทางพอดแคสต์ |