Email to friend
* Your name:
* Your email:
* Friend's email:
Comment:


การพัฒนากระบวนการให้บริการนักศึกษา ทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

þ บุคคล

๑.นายวรงค์          ชื่นครุฑ                     หัวหน้าฝ่ายบริการการศึกษา  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

๒. นางสาวทัศนียา  มีเปี่ยมสมบูรณ์            หัวหน้าฝ่ายกิจการนักศึกษาศิลปและวัฒนธรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

๓. นางสาวสุมิตรา   พรหมขุนทอง             นักวิเคราะห์นโยบายและแผน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

๔. นายปวิตร         คงประเสริฐ               เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป     คณะวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี

๕. นายพงศ์ธร       ผลพัฒนาสกุลชัย          เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สถาบันวิจัยและพัฒนา

๖. นายนฤดม        จิ๋วประดิษฐ์กุล             เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป  คณะวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี

๗. นายศุภพล        คำชื่น                       เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป  คณะวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี

๘. นางสาวนภาพร   ทองรัตนชาติ              นักวิชาการศึกษา  กองกลาง สำนักงานอธิการบดี

๙. นางสาววิภาวดี    วงศ์พุฒิเลิศ               นักวิชาการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

þ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) กลุ่ม Decagram

หัวข้อการจัดการความรู้ (KM)

การพัฒนากระบวนการให้บริการนักศึกษาทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

องค์ความรู้

การพัฒนากระบวนการให้บริการนักศึกษา ทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เลขที่เอกสาร (ถ้ามี)

วันที่รายงาน

1๗ กันยายน ๒๕๖๔

ประเภท

þ การจัดการเรียนการสอน

£ การวิจัย

þ การพัฒนาการปฏิบัติงาน

คณบดี/ผู้อำนวยการ

หัวหน้าสำนักงาน/หัวหน้าฝ่าย

จัดทำโดย

 

1. ความเป็นมาและเหตุผล/สภาพปัญหาและอุปสรรค (สรุปโดยย่อ)

           ภายหลังการจัดตั้งกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ ภายใต้ปัญหาประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผลสืบเนื่องจากการดำเนินการสำรวจข้อมูลประเภทงานที่นักศึกษามาติดต่อกลุ่มงานวิชาการที่จุด One Stop Service ปรากฏว่างานให้บริการด้านการลงทะเบียนเรียน มาเป็นอันดับที่ ๑ และงานให้บริการด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา มาเป็นอันดับที่ ๒ โดยปีงบประมาณ ๒๕๖๔ กลุ่ม DECAGRAM จึงเลือกงานให้บริการด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการให้บริการนักศึกษาประเภทที่ ๒ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาพบว่าในด้านการจัดการการเรียนการสอน มีกฎระเบียบ ขั้นตอนกระบวนการและวิธีการต่างๆ หลากหลาย รวมถึงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการ ณ จุด One Stop Service เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของคณะฯ ที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน มาให้บริการตามตารางปฏิบัติหน้าที่ และมาจากหลายฝ่าย เพื่อรองรับการให้บริการนักศึกษาที่มีจำนวนมาก ส่งผลต่อนักศึกษาหรือผู้รับบริการทำให้ไม่ได้รับความชัดเจนและสร้างความยุ่งยากให้กับผู้รับบริการ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้งานนั้นขาดคุณภาพและการให้ข้อมูลที่สำคัญไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ  อย่างไรก็ตาม กลุ่มของชุมชนนักปฏิบัติ ได้วิเคราะห์ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการตอบคำถาม ชี้แจงและการแนะนำให้กับผู้รับบริการไม่ดี ขาดความรู้ความเข้าใจในงาน และไม่ทราบกฎระเบียบ ประกาศและข้อบังคับมหาวิทยาลัยของผู้ปฏิบัติงาน ณ จุด One Stop Service ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการ นักศึกษาและอาจารย์ ทำให้ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน สร้างความสับสน รวมถึงการขาดมาตรฐานในการปฏิบัติงานด้วย  

             อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำปัญหาด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มาดำเนินการจัดการความรู้ (KM) เนื่องด้วยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตทุกหลักสูตร ซึ่งต้องมีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพกับหน่วยงานภายนอก สถานประกอบการ มีการประเมินผลการฝึกงานของนักศึกษา และการประเมินผลสัมฤทธิ์การฝึกงานโดย

อาจารย์นิเทศก์และอาจารย์ผู้สอน จึงมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง การประสานงานต้องมีความชัดเจนและเหมาะสม ไม่มีความผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักศึกษาแล้ว วิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ถือได้ว่าเป็นบทสรุปของความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้และทักษะตามหลักสูตร ว่าสามารถไปปฏิบัติงานจริงได้หรือไม่ ซึ่งนักศึกษาทุกคนต้องผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ จึงนับว่าสามารถสำเร็จการศึกษาได้

              ด้วยเหตุนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔  ทางสมาชิกชุมชนนักปฏิบัติจึงได้หยิบยกนำเอาประเด็นปัญหาด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพมาดำเนินการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามกระบวนการจัดการความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้หัวข้อการพัฒนากระบวนการให้บริการนักศึกษาทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔  เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมและสามารถนำผลการศึกษาครั้งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ดังเช่นที่ผ่านมา และเพื่อให้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านอื่น ๆ ต่อไป

2. วัตถุประสงค์

                เพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงขั้นตอนการให้บริการทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การแก้ปัญหาให้กับนักศึกษา เจ้าหน้าที่ให้บริการในมิติต่างๆเกี่ยวกับรายวิชาการฝึกประสบการณืวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การรับบริการตลอดจนการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆเกี่ยวกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

3. ลักษณะงานที่ปฏิบัติ

       ขั้นตอนการตรวจสอบเนื้อหาในแบบฟอร์มขอฝึกประสบการณ์วิชาชีพของฝ่ายบริการการศึกษา
                       1. ตรวจสอบการกรอกข้อมูลขอฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

จุดที่ 1.1 ตรวจสอบการเลือกขั้นตอนที่ 1 และเลือกหนังสือขออนุญาตฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
จุดที่ 1.2 ข้อมูลชื่อ นามสกุล รหัสประจำตัว สาขาวิชา ภาคเรียนที่ไปฝึก
2. ตรวจสอบหน่วยงานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
จุดที่ 2.1 ตำแหน่ง หรือ ชื่อ-สกุล ผู้ที่นักศึกษาต้องการติดต่อ ชื่อหน่วยงานที่ต้องการไปฝึก
จุดที่ 2,2 ที่อยู่ของหน่วยงาน ชื่ออาคาร เลขที่ และรายละเอียดต่างๆ (สิ่งที่ควรแสดงในลักษณะรูปแบบของจดหมาย)
3. ตรวจสอบระยะเวลาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
จุดที่ 3.1 ระยะเวลาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เช็คจำนวนชั่วโมง
จุดที่ 3,2 เช็ควันที่เริ่มฝึกวันที่ เดือน พ.ศ. ถึง วันที่ เดือน พ.ศ.
4. ตรวจสอบการลงนามอาจารย์ที่ปรึกษา

4. แนวคิด/ขั้นตอน/วิธีการ (สรุป)

            £ การลดขั้นตอน/ระยะเวลาการดำเนินงาน

            £ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

            £ พัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงาน

            þ สร้างประโยชน์และความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ

                การจัดการความรู้นี้ เป็นแนวคิดที่ต้องการปรับปรุงและพัฒนากระบวนให้บริการนักศึกษาทางด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ โดยเป็นการนำความรู้ ความเข้าใจ และทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เข้าใจกระบวนการให้บริการทางด้านการฝึกประสบการณ๋วิชาชีพ ดึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มาผ่านกระบวนการการคิดวิเคราะห์หาสาเหตุตามผังก้างปลา การนำ QC Story 7 ขั้นตอนมาใช้ในการดำเนินการจัดทำความรู้ โดยรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนำมาจัดทำเป็นองค์ความรู้กระบวนการให้บริการนักศึกษาที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งการนำความรู้ทางด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพมาเผยแพร่ให้นักศึกษา รวมถึงการออกแบบคู่มือฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้นักศึกษาได้นำไปใช้ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริงได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ

5. ข้อควรระวัง (ถ้ามี)   -

6. เคล็ดลับ/เทคนิคพิเศษ (Tips and Tricks) (สรุปโดยย่อ)

                 ๖.1 การเลือกหัวข้อเรื่องที่มีปัญหา มีความสำคัญ ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หรือบุคคลอื่นโดยกว้าง จะทำให้การจัดการความรู้ของเรามีความน่าสนใจ

                 ๖.๒ การเลือกหัวข้อเรื่องมีการสำรวจตัวเลขหรือข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือว่ามีความสำคัญและมีผลกระทบต่อผู้อื่น

                 ๖.๓ การวิเคราะห์หาสาเหตุจากผังก้างปลา โดยไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาทุกส่วน แต่ให้มุ่งเน้น (Focus) เฉพาะสาเหตุหลักเท่านั้น

                 ๖.๔ การนำรูปแบบ QC story ๗ ขั้นตอน ผ่านวงจร P-D-C-A มาใช้ในการดำเนินการจัดการงานให้มีคุณภาพ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

                 ๖.๕ เมื่อได้องค์ความรู้มาแล้ว จะต้องมีการทบทวนว่าองค์ความรู้นั้น สามารถตอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงประเด็นหรือไม่ ยังคงขาดกระบวนการใดหรือไม่

                 ๖.๖ การนำองค์ความรู้ไปทดลองใช้และเผยแพร่ เพื่อเป็นการตรวจสอบในการปฏิบัติจริงว่าสามารถใข้ได้หรือไม่

                 ๖.๗ องค์ความรู้ที่มีนั้น จะต้องมีแผนการนำไปใช้และการเผยแพร่ที่ชัดเจน ให้เข้าถึงนักศึกษา และเจ้าหน้าทีปฏิบัติงานและมีการวัดผลความรู้ ความเข้าใจ และวัดประสิทธิภาพก่อนและหลังจากการดำเนินการ

                 ๖.๘ กระบวนการที่ได้มาซึ่งองค์ความรู้ การเผยแพร่และการวัดผลสำเร็จขององค์ความรู้นั้น ต้องเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับกระบวนการจัดการความรู้

                 ๖.๙ การสร้างสรรค์กระบวนการจัดการความรู้ที่เป็นหลักการให้เข้ากับลักษณะการทำงานของเรา โดยที่เกิดประโยชน์กับนักศึกษาและเจ้าหน้าที่อย่างแท้จริง สามารถลดปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในการปฏิบัติงานในอนาคต

7. ผลของการดำเนินงาน (Output) (สรุปโดยย่อ)

                จากการดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่ม ผลการดำเนินงานที่ได้  ดังนี้

                 ๗.๑ คู่มือกระบวนการให้บริการทางด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้บริการ ซึ่งนักศึกษาสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมได้

     ๗.๒. คู่มือการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา เป็นคู่มือนักศึกษาที่นำไปใช้ในออกการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มีลักษณะเหมือนสมุดกระบวนการ สมุดพก สมุดจดบันทึกการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การประเมินผลการฝึกงานในแต่ละวัน และรายงานผลสรุปของการฝึกประสบการณ์ทั้งหมด

     ๗.๓ คำถาม - คำตอบ ระเบียบปฏิบัติ ขั้นตอนทางด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (Q&A) เป็นลักษณะคำถาม คำตอบที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการตอบคำถามนักศึกษาได้อย่างง่าย เป็นเรื่องการฝึกงานทั่วไป คำถามสั้นๆ ซึ่ง คำถาม คำตอบ(Q&A)นี้ จะไม่สามารถแสดงอยู่ได้ในคู่มือทั้งสองเล่มข้างต้น

     ๗.๔ แผนการฝึกอบรมการให้บริการทางด้านการฝึกประสบการณ์ ของเจ้าหน้าที่และให้ความรู้ทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา ซึ่งได้กำหนดแนวทางการฝึกอบรมหรือการเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษา วันเวลาการฝึกอบรมอย่างชัดเจน เพื่อให้การนำองค์ความรู้ไปใช้อย่างเกิดประโยขน์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

     ๗.๕ ฐานข้อมูลสถานประกอบการ  มีการเผยแพร่ฐานข้อมูลสถานประกอบการผ่านเว็บไซต์ www.sci.ssru.ac.th แถบฝ่ายบริการการศึกษา เลือกฐานข้อมูลสถานประกอบการ ซึ่งนักศึกษาสามารถมาเลือกดูสถานประกอบการที่นักศึกษารุ่นเก่าเคยไปแล้ว และมีการสรุปคะแนนความน่าสนใจของสถานประกอบการ ใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการเลือกสถานประกอบการที่ใช้ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาได้ (หมายเหตุ : มีงานวิจัยของกลุ่ม เรื่องโปรแกรมฐานข้อมูลสถานประกอบการผ่านกูเกิ้ลสเปรดชีต ซึ่งใช้ในการอ้างอิงคุณภาพ)

8. ผลลัพธ์ของการดำเนินงาน (Outcome) (สรุปโดยย่อ)

เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเข้าใจ ไม่เกิดข้อผิดพลาด สามารถบริหารจัดการการให้บริการทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพได้อย่างเหมาะสม และสามารถตอบคำถามให้กับนักศึกษาได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ รวมถึงสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้มาเปลี่ยนแปลงวิธีการให้บริการแบบออนไลน์ได้ตามสถานการณ์ในปัจจุบัน

นักศึกษาเข้าใจความรู้ทางด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สามารถบริหารจัดการเวลาที่เหมาะสมในการเตรียมตัวฝึกประสบการณ์วิชาชีพทั้งในเรื่องการขอรับบริการและการเตรียมความรู้ทางวิชาชีพสำหรับการฝึกงาน สามารถนำคู่มือฝึกประสบการณ์วิชาชีพนำไปใช้ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริงได้ รวมถึงการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับบริการทางด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพได้อย่างถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

9. ประโยชน์ที่ได้รับ (สรุปโดยย่อ)

                 ๙.๑ ประโยชน์ต่อนักศึกษา

                         นักศึกษาเข้าใจกระบวนการในการขอรับบริการด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รู้บทบาทของตนเอง มีความพร้อมในการเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

                 ๙.๒ ประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่

                        เจ้าหน้าที่สามารถให้บริการและให้คำแนะนำด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาในการดำเนินงานในการให้บริการด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพ จากเดิมที่ต้องรอเจ้าหน้าที่งานวิชาการมาตอบคำถาม ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนหรือเจ้าหน้าที่ใหม่ ก็จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากระบบและแผนการการฝึกอบรม

                 .๓ ประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ปรึกษา

                        อาจารย์สามารถให้คำแนะนำด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้แก่นักศึกษาที่ตนดูแลได้  ในกรณีอาจารย์เข้ามาใหม่สามารถศึกษาและขั้นตอนการปฏิบัติงานในด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพ จากคู่มือที่จัดทำขึ้นมาใหม่

                 ๙.๔ ประโยชน์ต่ออาจารยนิเทศหรืออาจารย์ประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

                        อาจารย์นิเทศหรืออาจารย์ประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพสามารถใช้กระบวนการต่างๆในงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ทั้งรูปแบบวิธีการ ขั้นตอน แบบฟอร์ม คู่มือฝึกประสบการณ์วิชาชีพ รวมถึงไปถึงการวัดผลความรู้ ความสามารถและทักษะของนักศึกษาจากสถานประกอบการ นำไปสู่ผลลัพธ์การฝึกประสบการณ์วิชาชีพในการประเมินผลคะแนนในรายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาได้

10. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (สรุปโดยย่อ) 

                        ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่ม DECAGRAM  มีวางแนวทางด้านการบริหารจัดการงานที่ดี นำกระบวนการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม มีการทบทวนกระบวนการ รวมถึงการติดตามงานที่ได้รับมอบหมายโดยตลอด มีการวางเป้าหมายของการทำงานตั้งแต่เริ่มกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน ทั้งยังมีการกระจายงานที่ได้รับ การแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน ทำให้สามารถเข้าใจงานที่ได้รับไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                        สำหรับด้านการให้ความสำคัญของงานและสมาชิกกลุ่ม DECAGRAM มีการร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน ความสามัคคี ความตั้งใจที่จะพัฒนางานอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ลงไปในกระบวนการจัดการความรู้ของกลุ่ม เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญที่สุดต้องเป็นสิ่งที่สร้างความสุขในการทำงานและความสัมพันธ์ร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มด้วย

11. แนวทางการพัฒนาในอนาคต (สรุปโดยย่อ)

                สำหรับแนวทางการพัฒนากระบวนการให้บริการนักศึกษาทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพในอนาคต

๑. นำองค์ความรู้ที่ได้เข้าสู่การประชุมผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยออกเป็นกิจกรรมสำหรับนักศึกษาที่จะสร้างเสริมความรู้ทางด้านการให้บริการและการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

๒. พัฒนาองค์ความรู้ที่ได้นำไปใช้เป็นการสนับสนุนการสอนและเนื้อหาในรายวิชา การเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งใช้ในการสอนนักศึกษาในห้องเรียน

๓. การใช้องค์ความรู้ที่ได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานทางด้านฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริงสำหรับอาจารย์นิเทศก์ และแสดงอยู่ในรายวิชา การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ในการบันทึกข้อมูลการฝึกงานและอาจารย์นิเทศสามารถประเมินผลการฝึกงานผ่านองค์ความรู้ที่ได้มีการจัดการความรู้ไว้