หน้าแรก / การจัดการความรู้ / การจัดการความรู้ ประจำปีงบประมาณ 2557 / บัณฑิตวิทยาลัย / การยกระดับคุณภาพผลงานทางวิชาการ ระดับบัณฑิตศึกษา / แนวทางและแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่
|
|
|||||
การเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ (conference) ซึ่งมักเป็นการ นำผลงานวิจัยที่เพิ่งทำเสร็จมาเขียนเป็นบทความแล้วส่งให้บรรณาธิการของที่ประชุมวิชาการพิจารณา หลังจากนั้นจึงมีการส่งผลต่อผ่านขั้นตอนวิจารณ์เพื่อการประเมินคุณค่าและความถูกต้อง เมื่ออนุมัติผ่านบทความก็จะได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ (proceedings) ซึ่งในการประชุมผู้วิจัยจะต้องมีหน้าที่นำเสนอบทความของตนเอง โดยการนำเสนออาจจะอยู่ในรูปโปสเตอร์หรือแบบปากเปล่า ข้อดีของการเผยแพร่ในรูปแบบนี้ก็คือผลงานวิจัยจะได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีเวทีลักษณะนี้จำนวนมาก โอกาสในการนำเสนอจึงมีมาก นอกจากนี้ที่ประชุมวิชาการยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดานักวิจัยท่านอื่น จึงมีประโยชน์มากสำหรับการส่งบทความที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ออกไปชิมลาง เพื่อนำผลตอบรับกลับมาปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับการตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์ต่อไป นอกจากนี้ประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้างชื่อเสียงให้นักวิจัยอื่นรู้จักและสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยในสาขาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็มีข้อดีข้อเสียในตัวของมันเอง เนื่องจากจำนวนการจัดประชุมวิชาการซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คุณภาพในภาพรวมตกต่ำลงไปด้วย งานประชุมวิชาการหลายแห่งเป็นธุรกิจที่จัดขึ้นเพียงหวังผลกำไร หรือเป็นเพียงการจัดเพื่อให้บรรดาผู้จัดงานและครอบครัวได้ไปเที่ยวฟรี หลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการจัดประชุมตามกระแสนิยม ทำให้ขาดคุณภาพในแง่การประเมินบทความวิชาการและขาดความเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้อย่างจริงจัง อาทิ กลุ่มบุคคล สมาคมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยที่จัดตลอดจนสาขาที่ประชุมวิชาการแต่ละแห่ง ควรเลือกที่มีความเกี่ยวข้องหรือความเชี่ยวชาญตรงกับงานของนักวิจัยในสาขาเดียวกัน การเผยแพร่งานวารสารวิชาการ ช่องทางการเผยแพร่ในรูปแบบนี้จัดได้ว่าเป็นทางการและได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการวิชาการโดยทั่วไป สำหรับขั้นตอนที่เป็นทางการเพื่อเผยแพร่ก็จะเริ่มจากการส่งต้นฉบับของบทความพร้อมทั้งจดหมายนำ (Cover letter) ถึงบรรณาธิการเพื่อเกริ่นนำการค้นพบหรือความสำคัญของงาน ปัจจุบันวารสารหลายฉบับได้มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองและผู้เขียนสามารถลงทะเบียนเข้าเป็นผู้ใช้งานและทำการส่งเอกสารต้นฉบับตีพิมพ์ รวมไปถึงการติดตามผลทางออนไลน์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องส่งทางไปรษณีย์เหมือนในอดีต สำหรับผลของการพิจารณาจะเป็นไปได้ 3 กรณี ดังนี้ การตอบรับให้ตีพิมพ์ (accept) การส่งกลับมาแก้ไข (revise) และการปฏิเสธ (reject) กรณีการส่งกลับมาแก้ไข (revise) มักจะมีกำหนดระยะเวลาให้ส่งกลับคืนด้วย อาจจะแนะให้ทำการทดลองเพิ่ม ให้แก้ไขต้นฉบับและ/หรือให้ตอบคำถามต่างๆ การแก้ไขอาจต้องทำ 2-3 รอบซึ่งเมื่อแก้ไขแล้วมีโอกาสได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 50% กรณีที่ถูกปฏิเสธ(reject) นักวิจัยอาจจะนำมาแก้ไขตามที่ผู้อ่านพิจารณาผลงาน (reviewer) แนะนำดำเนินการปรับรูปแบบและส่งไปวารสารอื่น เมื่อได้รับการตอบให้ตีพิมพ์ (accept) ทางวารสารจะจัดทำต้นฉบับที่เหมือนจริงในวารสารส่งให้นักวิจัยตรวจทานอีกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาด นักวิจัยต้องรีบดำเนินการตรวจแก้ไขและส่งกลับคืนอย่างรวดเร็ว คล้ายกับการประชุมวิชาการ ในปัจจุบันมีวารสารวิชาการจำนวนมากที่เป็นสนามให้นักวิจัยตีพิมพ์ผลงานวิจัย แต่คุณภาพและมาตรฐานของวารสารแต่ละเล่มจะแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ระดับง่ายจนถึงยากมากและใช้เวลาในการพิจารณาหลายเดือนถึงเป็นปี เปรียบเสมือนการประกวดนางงาม ผู้ประกวดสามารถเลือกเวทีตั้งแต่ประเภทเทพีเงาะ มังคุด ไปจนกระทั่งถึงเวทีระดับนางสาวไทยหรือนางงามจักรวาล วิธีการสังเกตคุณภาพของวารสารก็มักดูที่ความเก่าแก่ สมาคมซึ่งเป็นผู้ดูแลการจัดพิมพ์ และอีกวิธีหนึ่งคือการพิจารณาจากดัชนีอ้างอิงของวารสารแต่ละฉบับว่าอยู่ในฐานข้อมูลใด อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีฐานข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมากแยกกันไปตามบริษัทหรือหน่วยงานที่ให้บริการแต่ฐานข้อมูลซึ่งเป็นที่นิยมของนักวิจัยในปัจจุบันคือฐานข้อมูลที่มีการคิดค่าดัชนีอ้างอิง (impact factor) ให้กับวารสารฐานข้อมูลที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและมีดัชนีอ้างอิง (จำนวนครั้งเฉลี่ยของการอ้างอิงของบทความที่ตีพิมพ์ในแต่วารสาร) มีอยู่หลายแห่ง บางข้อมูลที่เป็นของคนไทยคือ ดัชนีอ้างอิง Thailand citation Index (TCI) ซึ่งดูแลโดยศูนย์อ้างอิงดัชนีวารสารไทยส่วนฐานข้อมูลของต่างประเทศมีหลายแห่ง ได้แก่ ดัชนีอ้างอิง SCLmago ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ของบริษัทElsevierและต้นตำหรับคือดัชนี ISI ซึ่งเป็นของบริษัทยักใหญ่ผ็ให้บริการด้านข้อมูล คือ Thomson Reuters อย่างไรก็ตามดัชนีชี้วัดที่นักวิชาการพยายามสร้างขึ้นมาเหล่านี้ก็เพื่อจัดลำดับคุณภาพของวารสารเท่านั้น แต่ยังขาดความสมบูรณ์และมีช่องโหว่อยู่มากฉะนั้นจึงไม่ควรไปยึดติดมากจนเกินไป
ระบุชื่อผู้เชี่ยวชาญที่กลั่นกรองความรู้) ผ่านการกลั่นกรองความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ ดร.กนกอร หัสโรค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ประกันคุณภาพและอุตสาหกรรม วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ตรวจทาน กลั่นกรองความรู้ และให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไข ซึ่งได้คู่มือการเขียนผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ และกระบวนการเขียนผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ |