สรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการประชุมการจัดการความรู้ ครั้งที่ 3 เพื่อเข้าสู่การประมวลผลและกลั่นกรองความรู้

        
Views: 642
Votes: 5
Comments: 0
Posted: 18 Aug, 2014
by: ศรีสราญกุลวงศ์ อ.ศ.
Updated: 18 Aug, 2014
by: ศรีสราญกุลวงศ์ อ.ศ.

กลุ่ม RE-MAKE 

สรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการประชุมการจัดการความรู้ ครั้งที่ 3

เพื่อเข้าสู่การประมวลผลและกลั่นกรองความรู้

เรื่อง “ เทคนิคการบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่”

1. การเตรียมบทความวิจัย

    1.1 ชื่อบทความวิจัย

          ควรเป็นชื่อเรื่องเดียวกับผลงานวิจัย มีความชัดเจน และครอบคลุมประเด็น สะท้อนให้เห็นจุดสำคัญของงาน ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ชื่อบทความเป็นภาษาอังกฤษตามความต้องการของเจ้าของวารสาร ต้องระมัดระวังในการใช้ชื่อเฉพาะให้ถูกต้อง ควรเขียนให้มีลักษณะเป็นวลี และใช้ให้ถูกต้องตามแบบแผนการใช้ภาษา

    1.2 เนื้อหา

          ควรนำเสนอเนื้อหาที่เข้าใจง่าย มีความชัดเจน ใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ซึ่งประกอบไปด้วย

          1.2.1 บทคัดย่อ (Abstract) ควรเขียนให้มีความยาวและจำนวนคำตามข้อกำหนดของวารสาร หรือโดยประมาณ 300 คำ ซึ่งจะเป็นการสรุปเนื้อหาและกระบวนการทั้งหมดให้เข้าใจได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์ ระเบียบวิธีวิจัย ผลการศึกษา บทสรุป

          1.2.2 บทนำ (Introduction) ควรเขียนถึงความเป็นมา ความจำเป็น หรือสิ่งเกี่ยวเนื่องที่ต้องการศึกษา ใช้ภาษาและเนื้อหาที่ผู้อ่านทุกศาสตร์ สามารถเข้าใจได้ง่าย

          1.2.3 วัตถุประสงค์ (Purpose) ควรเขียนระบุให้ชัดเจนและเรียงลำดับตามความสำคัญในสิ่งที่ต้องการศึกษา

          1.2.4 ระเบียบวิธีวิจัย (Methodology) ควรเขียนให้ถูกต้อง และดูน่าเชื่อถือ โดยต้องระบุ กลุ่มประชากร พื้นที่ศึกษา ประเภทและเครื่องมือที่ใช้ ระยะเวลา  ตลอดจนวิธีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และแปลผล

          1.2.5 ผลการวิจัย (Result) ควรเขียนผลรายงานจากสิ่งที่ทำการศึกษา หรืออาจเลือกใช้ตารางในการอธิบายเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนและประหยัดพื้นที่

          1.2.6 อภิปรายผล (Discussion) ควรเขียนระบุสิ่งที่ค้นพบ องค์ความรู้ใหม่ที่ได้ การนำไปพัฒนาหรือใช้ประโยชน์ต่อไปได้อย่างไร ผลที่ได้มีความสอดคล้องหรือแตกต่างจากประเด็นที่อาจมีผู้เคยทำการวิจัยและผลที่ได้ค้นพบ

          1.2.7 กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgment) ควรเขียนขอบคุณแหล่งทุน บุคคล หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัย หรือเป็นไปตามข้อกำหนดของวารสารนั้นๆ

          1.2.8 อ้างอิง (Reference) การเขียนอ้างอิง ควรศึกษารูปแบบที่วารสารนั้นเป็นผู้กำหนด หากต้องการตีพิมพ์ในวารสารที่มี Impact Factor สูง ควรเลือกเขียนอ้างอิงเฉพาะวารสารที่สำคัญๆ หรือเป็นที่รู้จัก

    1.3 การประเมินคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ

           ควรนำบทความวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์ ให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในศาสตร์นั้น ตรวจสอบความถูกต้องของภาษาและเนื้อหาเชิงวิชาการ เพื่อนำมาปรับแก้ ให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด

    1.4 การแปลหรือเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ

           ควรศึกษาวิธีการเขียนให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในภาษานั้นๆ

   

2. การส่งบทความเพื่อการตีพิมพ์

     2.1 การหาแหล่งตีพิมพ์

          ควรเป็นวารสารที่มีค่า Impact Factor และอยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ  เป็นไปตามที่สกอ.กำหนด โดยศึกษาจากเกณฑ์คุณภาพวารสารตามข้อกำหนดในประเทศและในระดับนานาชาติตามฐานข้อมูลต่างๆ ในระยะแรกอาจพิจารณาจากวารสารที่มีเนื้อหาตรงตามประเด็นสอดคล้องกับผลงาน ความถี่ ความยากง่าย และคุณภาพของวารสารก่อน หลังจากนั้น เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น อาจพัฒนาไปสู่วารสารที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อทำให้ผลงานวิจัยของเราเป็นที่ยอมรับ 

2.2 การศึกษาถึงข้อจำกัดในการจัดรูปแบบเอกสาร ( Manuscript)

        หลังจากเลือกวารสารหรือแหล่งตีพิมพ์ได้แล้ว ผู้วิจัยควรศึกษาถึงรูปแบบและข้อกำหนดของวารสารนั้นๆ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีดังต่อไปนี้

        2.21 ขนาดกระดาษและพื้นที่ใช้งาน (Size) การเว้นกรอบจากขอบกระดาษทุกด้าน (Margin) การจัดแบ่งคอลัมน์ ความกว้างของคอลัมน์ และระยะห่างระหว่างคอลัมน์ (Column)

        2.2.2 ตัวอักษร (Font) ควรศึกษาถึงข้อกำหนดของรูปแบบตัวอักษรและขนาดที่ใช้ ความแตกต่างตามข้อกำหนดในแต่ละหัวข้อ ตลอดจนการจัดวางอย่างเหมาะสมตามข้อกำหนด

        2.2.3 การใช้ภาพและการจัดวาง ควรศึกษาถึงวิธีการจัดวางภาพ วิธีการเขียนอธิบายใต้ภาพ

        2.2.4 การใช้ตารางและแผนภูมิ ควรเลือกตารางหรือแผนภูมิที่แสดงข้อมูลให้เห็นได้ชัดเจนและประหยัดพื้นที่ ควรเขียนคำอธิบายให้ถูกต้อง ตามข้อกำหนดที่วารสารนั้นๆต้องการ

        2.2.5 การเรียงลำดับเนื้อหา ควรเป็นไปตามที่วารสารนั้นๆ เป็นผู้กำหนด

        2.2.6 ข้อจำกัดในการใช้จำนวนคำ และจำนวนหน้าในการเผยแพร่ ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด

         2.2.7 รูปแบบการอ้างอิง ควรศึกษาวิธีการเขียนอ้างอิงตามรูปแบบวารสารที่กำหนดให้ถูกต้อง

   2.3 การลงทะเบียน (Submission)

       เมื่อจัดเตรียมบทความเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องทำการลงทะเบีบนตามข้อกำหนดของวารสารนั้นๆ โดยต้องศึกษาขั้นตอน วิธีการ และรายละเอียดต่างๆให้เข้าใจ  โดยเฉพาะเรื่องกำหนดเวลาในการส่งบทความ การตอบรับ การเผยแพร่ และ การแก้ไข ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินการ และเมื่อดำเนินการครบทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง หากได้หนังสือยืนยันหรือตอบรับการตีพิมพ์จากวารสารนั้นๆ ถือเป็นอันสิ้นสุด ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบและติดตามการเผยแพร่ว่าอยู่ในวารสารฉบับใด เดือนและปี ที่ทำการเผยแพร่ ให้ถูกต้องตามข้อตกลงอีกครั้ง

3. แนวทางที่ควรปฏิบัติในการนำเสนอบทความวิจัย เพื่อการตีพิมพ์และเผยแพร่

   3.1 ต้องเป็นบทความใหม่ที่ไม่เคยตีพิมพ์ และเผยแพร่ที่ใดมาก่อน หรืออยู่ระหว่างรอการตอบรับจากวารสารเล่มอื่นๆ

    3.2 ต้องเป็นบทความที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

    3.3 ต้องมีความถูกต้องตามหลักทางวิชาการ ในเนื้อหา และการใช้ภาษาในการสื่อสาร

    3.4 ต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ที่เกิดจากการค้นพบด้วยตนเอง

    3.5 ต้องเป็นผลงานของผู้เขียนเอง หรือจากคณะทำงานที่เป็นจริงตามข้อตกลง และจะต้องมีการระบุชื่อในบทความที่เผยแพร่ ตามลำดับความสำคัญ

    3.6 ต้องได้รับการประเมินคุณภาพ ก่อนทำการเผยแพร่

ข้อเสนอแนะจากการประชุม

   เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองบทความ (Peer Review) แต่ละบุคคล อาจมีกรอบความต้องการในการเขียนที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้เขียนบทความ จะต้องยึดถือการเขียนตามแบบฟอร์มและข้อกำหนดให้ชัดเจน และจะต้องแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของบทความที่เหมาะสมในการตีพิมพ์และเผยแพร่ ซึ่งอาจพิจารณาจากสิ่งดังต่อไปนี้

  • บทความวิจัยจะต้องแสดงข้อมูลเชิงประจักษ์ มีการอ้างอิงที่เป็นปัจจุบัน
  • กระบวนการวิจัย จะต้องตอบคำถามตามวัตถุประสงค์ได้ครบ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
  • มีการประเมิน หรือตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัย จะต้องมีการเขียนเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีกระบวนการที่ถูกต้อง เชื่อถือได้
  • การเขียนอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ จะเป็นตัวแสดงถึงศักยภาพและคุณค่าของงานวิจัย โดยต้องสามารถแสดงให้เห็นประโยชน์ในสิ่งที่พบ หรือการนำไปพัฒนาต่อไปอย่างไร
Others in this Category
document รายชื่อสมาชิก
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 1 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 2 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 4 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 5 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 6 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 7 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 8 /2557
document ขอเผยแพร่คู่มือการใช้บริการผ่านระบะเทคโนโลยีสารสนเทศ
document บรรยากาศการประชุมกลุ่มจัดการความรู้ (KM) กลุ่ม Re-make
document บรรยากาศการประชุมกลุ่มจัดการความรู้ (KM) กลุ่ม Re-Think
document สมาชิกการจัดการความรู้ (KM) คณะศิลปกรรมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 9 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 10 /2557
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ (KM) Art Team ครั้งที่ 11 /2557
document คู่มือเทคนิคบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ โดย RE-MAKE
document รายงานการประชุม การจัดการความรู้ ครั้งที่ 1