Email to friend
* Your name:
* Your email:
* Friend's email:
Comment:


การจัดการสารเคมีระดับสากล

การจัดการสารเคมีของประเทศไทย

1. แผนพัฒนาความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ

         ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกโครงการ IPCS เมื่อปี พ.ศ. 2528 และเป็นศูนย์ประสานงานแห่งชาติของเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยของสารเคมี (Intergovernmental Forum on Chemical Safety; IFCS) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ซึ่งทั้ง IPCS และ IFCS ต่างก็มีบทบาทหลักที่ตรงกับเป้าประสงค์ในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยการลดความเสี่ยงอันตรายจากเคมีวัตถุ โดย IPCS รับผิดชอบด้านวิชาการ ส่วน IFCS กำกับด้านนโยบาย

         ประเทศไทยได้ดำเนินงานความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุภายใต้แผนแม่บทความปลอดภัยด้านเคมีแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2540 – 2544) และ ฉบับที่ 2 ในแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 ได้มีการบรรจุกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แผนงาน 3 แผนงาน คือแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และทรัพยากรมนุษย์ แผนงานพัฒนาโครงสร้างระบบงานบริหาร แผนงานพัฒนาระบบบริการ สำหรับแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วยงานต่างๆ 4 งาน รวมถึงงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและการประสานงานด้านวิชาการ ส่วนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 มีแผนยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายข้อมูลสารเคมีแห่งชาติ การพัฒนาระบบการจัดการและป้องกันอุบัติภัยเคมีวัตถุ การส่งเสริมศักยภาพการจัดการของเสียเคมีวัตถุ การพัฒนาเครือข่ายศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ และการศึกษาวิจัยและพัฒนา ซึ่งกล่าวได้ว่าการวางแผนยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้านในแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ได้คำนึงถึงการจัดการสารเคมีหรือเคมีวัตถุอย่างครบวงจร กล่าวคือ มียุทธศาสตร์ที่ 1 สำหรับการดูแลจัดการสารเคมีตั้งแต่การนำเข้า การผลิต การใช้ มียุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3 ดูแลทางด้านพิษภัยของการใช้ การป้องกันอุบัติภัย และมีแผนยุทธศาสตร์ที่ 4 ในการดูแลปลายทางคือของเสียอันตราย นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์ที่ 5 ในการดำเนินงานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน

2. การดำเนินงานตามแผนพัฒนาความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ

         การดำเนินงานตามแผนพัฒนาความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี องค์กรอิสระ ธุรกิจเอกชน กลุ่มหรือสมาคมที่ดำเนินงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ในเชิงกฎหมายการจัดการสารเคมีอันตรายภายในประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า 30 ฉบับ โดยมีกฎหมายหลัก 3 ฉบับคือ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 (ปัจจุบันรับผิดชอบโดยกระทรวงแรงงาน) นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสารเคมีอีกหลายฉบับ เฉพาะที่เกี่ยวกับอุบัติภัยเท่านั้นมีถึง 17 ฉบับ กฎหมายที่มีขอบเขตการควบคุมกว้างขวางที่สุดคือ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแบ่งหน่วยงานรับผิดชอบเป็น 6 หน่วยงานตามของเขตการนำสารเคมีไปใช้ประโยชน์ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

          พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 17 ได้กำหนดให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานในเรื่องข้อมูลของวัตถุอันตรายกับส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งจากภาคเอกชน เพื่อรวบรวมและให้บริการข้อมูลทุกชนิดเกี่ยวกับวัตถุอันตรายตั้งแต่การมีอยู่ในต่างประเทศ การนำเข้าหรือการผลิตภายในประเทศ การเคลื่อนย้าย การใช้สอย การทำลาย และการอื่นใดอันเกี่ยวเนื่องศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้รับนโยบายดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ 1 ของแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินงานตามภารกิจที่กำหนดตามกฎหมายต่อไป

3. การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการจัดการสารเคมีอย่างครบวงจร

          ปี พ.ศ. 2534 ได้เกิดอุบัติภัยสารเคมีร้ายแรงคือคลังสารเคมีระเบิดที่คลองเตย หลังเกิดเหตุการณ์ไม่มีผู้ใดรวบรวมข้อมูลได้แน่นอนว่าสารเคมีที่ระเบิดมีกี่ชนิด อะไรบ้าง ปริมาณเท่าใด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2542 มีเหตุการณ์โรงงานลำไยระเบิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ทราบสาเหตุว่าเกิดจากโปแตสเซียมคลอเรต แต่ก็ไม่ทราบว่าโปแตสเซียมคลอเรตที่ระเบิดมีปริมาณเท่าใด มีคำถามว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบการดูแลสารเคมีนี้ มีการนำเข้าปริมาณเท่าใด เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งมีข้อมูลการอนุญาตนำเข้าในปี พ.ศ.2542 จำนวน 566 ตัน แต่เมื่อตรวจสอบกับข้อมูลการนำเข้าในปีเดียวกันของกรมศุลกากรแล้วพบว่ามีข้อมูลการนำเข้า 1,105 ตัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยแนวคิดการประสานงานการสร้างความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย ซึ่งได้สรุปรายงานไว้ว่า

          ปัญหาการเก็บข้อมูลสถิติของแต่ละหน่วยงาน เป็นไปโดยอิสระ เพื่อสนองวัตถุประสงค์ และนโยบายที่อาจจะแตกต่างกัน ระบบการเก็บข้อมูลแตกต่างกันและไม่อยู่ในรูปแบบที่นำมาเชื่อมโยงกันได้โดยง่าย จึงไม่สามารถติดตามการนำเข้าของสารอันตรายที่เป็นภาพรวมของวัตถุอันตรายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศ

          จากผลสรุปของโครงการแนวคิดฯ สกว. ได้สนับสนุนให้ดำเนินงานต่อเนื่อง จนเกิดผลงานในการติดตามความเคลื่อนไหวของสารเคมีแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่โครงการการสร้างระบบประสานงานข้อมูลการนำเข้าสารเคมีอันตราย โครงการดังกล่าว ทำให้เกิดระบบการเก็บข้อมูลการนำเข้าสารเคมีโดยใช้เลขที่เอกสารสำคัญของหน่วยงานควบคุมตามกฎหมายและประสานงานกับระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสารเคมีในใบขนสินค้าของกรมศุลกากร ทำให้หน่วยงานปฏิบัติที่มีหน้าที่กำกับการนำเข้าสารเคมีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 สามารถสื่อและตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าระหว่างกันได้ ทำให้สามารถควบคุมการนำเข้าสารเคมีอันตรายที่ควบคุมตามกฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น สารในกลุ่มยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช สารในกลุ่มทำลายชั้นบรรยากาศ (โอโซน) ต่อมาได้มีการนำระบบดังกล่าวไปขยายผลโดยหน่วยงานอื่นในการติดตามสารอันตรายอื่นๆ เช่น สารตั้งต้นยาเสพติด และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เป็นต้น

          เพื่อเป็นการติดตามข้อมูลจากจุดนำเข้า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรับผิดชอบวัตถุอันตรายที่ใช้ทางอุตสาหกรรม ได้ใช้ระบบประสานงานข้อมูลการนำเข้าสารเคมีอันตรายข้างต้น ตรวจสอบปริมาณที่ขอนำเข้ากับปริมาณที่ได้รับอนุญาต และมีการติดตามการใช้วัตถุอันตรายหลังการนำเข้า โดยให้ผู้ประกอบการรายงานปริมาณของวัตถุอันตราย 45 รายการทุก 6 เดือน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ที่มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานมีหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. 2543 จากความร่วมมือของศูนย์วิจัยฯ กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ทำให้ในปี พ.ศ. 2547 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีประกาศฯ ใหม่ ให้มีการใช้แบบฟอร์มรายงาน ซึ่งเป็นผลมาจากกงานวิจัยสำหรับรายงานข้อมูลวัตถุอันตราย รวม 54 รายการ

          ในส่วนของการจัดการปลายทางคือเกี่ยวกับการจัดการของเสียจากภาคอุตสาหกรรม เป็นที่ทราบกันดีว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วทั้งที่ผ่านมาและในปัจจุบัน ส่งผลให้ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ของเสียดังกล่าวอาจอยู่ทั้งในรูปของเสียอันตราย (Hazardous Waste : HZW) และที่ไม่เป็นของเสียอันตราย (Non-Hazardous Waste : Non-HZW) ซึ่งมักถูกจัดเก็บอย่างไม่เป็นระบบและเกิดการปะปนกัน ทำให้ยากต่อการจัดการในลำดับต่อไป ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงกำหนดยุทธศาสตร์การจัดเก็บและการติดตามกากของเสียอันตรายขึ้น การดำเนินงานเบื้องต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบได้จัดให้มีการศึกษาเพื่อประเมินสถานการณ์ แต่พบว่าการประเมินสถานการณ์ของเสียอันตรายและปริมาณตัวเลขของเสียภาคอุตสาหกรรมจากแหล่งศึกษาต่างๆ มีผลที่ได้แตกต่างกัน ความแตกต่างกันของการประมาณการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ สมมติฐานของการประเมินต่างกัน ข้อมูลที่ใช้เป็นพื้นฐานในการประเมินต่างกัน แต่สิ่งสำคัญยิ่งก็คือความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล อันเนื่องมาจากการติดตามกากของเสียอันตรายที่ไม่ครบวงจร กรมโรงงานอุตสาหกรรมและนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของ สกว. จึงได้จัดทำโครงการนำร่องเรื่องแนวทางการจัดเก็บข้อมูลวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บข้อมูลปฐมภูมิซึ่งบุคลากรของหน่วยงานรัฐและโรงงานอุตสาหกรรมนำไปใช้ได้ และโครงการนี้ได้พัฒนาเครื่องมือการจัดประเภทของเสียอันตรายโดยศึกษารูปแบบการจัดประเภทของเสียอันตรายตามระบบสากลหลายระบบ และได้เลือกรูปแบบการจัดประเภทของเสียอุตสาหกรรมตามระบบของสหภาพยุโรป หรือ European Waste Code (EWC)-Hazardous Waste List (HWL) นำมาใช้เทียบเคียงกับระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification : TSIC) และการจัดประเภทอุตสาหกรรมตามกฎกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ระบบการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสามารถพัฒนาให้เกิดศูนย์ข้อมูลของเสียเคมีวัตถุ (กากและวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรม) ในอนาคต


4. การจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในสถาบันการศึกษา

          สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่ที่มีการสอน/วิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแหล่งที่มีการใช้สารเคมี รวมทั้งมีกากของเสียที่เกิดจากกิจกรรมการเรียนการสอนและการวิจัยมากมาย ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการสารอันตรายเหล่านี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง อาทิเช่น

  • ไม่มีข้อมูลชนิดและปริมาณสารเคมีที่ซื้อใช้และใช้สำหรับการเรียนการสอนและการวิจัยในมหาวิทยาลัย
  • ไม่มีการแยกขยะต่างๆ ออกจากกัน ซึ่งได้แก่ ขยะธรรมดาหรือขยะทั่วไป ขยะมีสารพิษ ของเสียอันตราย ของเสียที่มาจากห้องทดลอง/ซากสัตว์ทดลอง และ ของเสียที่ประกอบด้วยสารกัมมันตรังสี
  • ไม่มีระบบการจัดเก็บ การติดตาม การจัดการและการป้องกันภัยที่เหมาะสมเกี่ยวกับกากของเสียและสารละลายของเสียจากห้องปฏิบัติการ
  • ไม่มีหน่วยงานกลางที่จะบริหารในส่วนการควบคุมดูแลความปลอดภัยในการจัดการสารอันตราย
  • ไม่มีนโยบายและการวางแผน การจัดการกากของเสียและวัตถุอันตรายที่เหมาะสมกับสภาพกิจกรรม

         ในระหว่างปี พ.ศ 2539 – 2541 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการจัดตั้งเครือข่ายศูนย์วิจัยร่วมอุตสาหกรรม - มหาวิทยาลัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและวัตถุอันตราย โดยการสนับสนุนของ สกว. วัตถุประสงค์ของโครงการคือพัฒนารูปแบบการบริหารและการจัดการของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สามารถถ่ายทอดรูปแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม ตลอดจนขยายขอบข่ายงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรวม

         ในการดำเนินงานข้างต้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้คัดเลือกอาคารตัวอย่างในเขตการศึกษา 7 อาคาร ประกอบด้วยหน่วยงาน 15 หน่วยงานที่มีการสอนการวิจัยที่ก่อให้เกิดของเสียลักษณะต่างๆ กัน วิธีการศึกษาประกอบด้วยการแบ่งคณะทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลกายภาพ ข้อมูลสารเคมีและวัตถุอันตราย ข้อมูลของเสียจากห้องปฏิบัติการ และข้อมูลด้านการป้องกันและตอบโต้กรณีฉุกเฉิน โดยนำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นฐานข้อมูล ผลการดำเนินงานสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลกายภาพ และฐานข้อมูลสารเคมี แล้วนำมาพัฒนาเป็นรูปแบบเพื่อการจัดการ 4 รูปแบบคือ 1) รูปแบบสารสนเทศปริภูมิ 2) รูปแบบการจัดการข้อมูลสารเคมี (CHEMTRACK) 3) รูปแบบการจัดการของเสียจากห้องปฏิบัติการ และ 4) รูปแบบการป้องกันและตอบโต้กรณีเหตุฉุกเฉิน

         โปรแกรมการจัดการข้อมูลสารเคมี (CHEMTRACK) เป็นโปรแกรมสำหรับการติดตามการจัดซื้อสารเคมี การเบิกจ่าย การบริหารงานด้านงบประมาณ และการบริหารด้านความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี โปรแกรมนี้ช่วยให้ทราบว่ามีการใช้งบประมาณการจัดซื้อสารเคมีอะไร จากที่ใด โดยใคร มีการใช้โดยใคร เพื่อกิจกรรมใดบ้าง และยังสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลความปลอดภัย (MSDS) เพื่อบริหารความปลอดภัยในการใช้สารเคมีได้ด้วย

         สำหรับรูปแบบการจัดการของเสียห้องปฏิบัติการ ได้จัดให้มีการจำแนกของเสียออกเป็น 2 ประเภท คือ

         1. ของเสียทีไม่เป็นอันตรายสามารถเจือจางและทิ้งลงท่อระบายน้ำ ได้แก่ของเสียประเภทเกลือของโลหะที่ไม่เป็นพิษ เช่น โซเดียม แคลเซียม เป็นต้น และสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งมีจำนวนคาร์บอนไม่สูงและสามารถถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ (Biodegradable)

         2. ของเสียที่ต้องมีการบำบัดเฉพาะ เป็นของเสียที่ก่ออันตรายได้ จึงจำเป็นต้องเก็บแยกและไม่ควรระบายทิ้งลงท่อระบายน้ำสาธารณะ เพราะจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ การพิจารณาว่าของเสียใดเป็นสารก่ออันตรายหรือไม่ พิจารณาได้จากคุณสมบัติของเสียอันตราย ซึ่งได้แก่ ลุกไหม้ได้ (Ignitability) มีฤทธิ์กัดกร่อน (Corrosivity) ไวต่อปฏิกิริยา (Reactivity) และเป็นพิษ (Toxicity)

         เพื่อให้การจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการเป็นไปอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องแยกประเภทย่อยของของเสียตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลักสำคัญคือ สารบางประเภทเมื่อรวมตัวกันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ความร้อนสูงขึ้น ระเบิด หรือเกิดเป็นไอพิษ เป็นต้น นอกจากนี้หากนำของเสียที่ควรบำบัดด้วยวิธีที่แตกต่างกันมารวมกันจะทำให้การบำบัดยุ่งยากมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การพิจารณาแบ่งประเภทย่อยการจัดเก็บของเสียจากห้องปฏิบัติการได้นำรูปแบบการจัดเก็บแยกประเภทของเสียจากห้องปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยเกียวโตมาเป็นต้นแบบและได้ปรับปรุงให้เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัย ของเสียจากห้องปฏิบัติการนี้อาจบำบัดเบื้องต้นได้ตามขีดความ สามารถของห้องปฏิบัติการและหน่วยงานของมหาวิทยาลัย หากบำบัดไม่ได้ ก็สามารถจัดระบบให้มีการนำออกไปกำจัดโดยบริษัทรับจ้างภายนอกที่มีการดำเนินการถูกหลักวิชาการ