Email to friend
* Your name:
* Your email:
* Friend's email:
Comment:


เทคนิคการพัฒนานักศึกษาให้ได้ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (สาขานิเทศศาสตร์) : คณะวิทยาการจัดการ

กลุ่ม COMM. ARTS RANGERS ได้เทคนิคการพัฒนานักศึกษาให้ได้ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ “การพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะในการสื่อสารที่ดี” จำนวน 2 เทคนิคคือ 1) เพื่อนช่วยเพื่อน (Peer-Assisted Learning Strategies) และ2) การฝึกปฏิบัติจัดโครงการ (Project-based Learning : PBL) โดยจัดทำออกมาในรูปแบบของคู่มือการพัฒนานักศึกษาให้ได้ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ “การพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะการสื่อสารที่ดี”โดยมีเทคนิคขั้นตอนการสอน 2 เทคนิคที่สำคัญคือ
เทคนิคที่ 1 การฝึกปฏิบัติจัดโครงการ (Project-based Learning : PBL) ประกอบด้วย 9 ขั้นตอน ดังนี้
         ขั้นตอนที่ 1อาจารย์ผู้สอนบรรยายให้ความรู้ ครอบคลุมเนื้อหาที่ระบุไว้ รวมทั้งชี้แจงนักศึกษาถึงวิธีการสอน การฝึกปฏิบัติจัดโครงการหรือโครงงานในรายวิชานั้น ๆ ตามมคอ.3 ที่ได้จัดทำไว้
         ขั้นตอนที่ 2 อาจารย์ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนจัดโครงการที่สอดคล้องกับรายวิชา หรือ โครงการที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษารายวิชานั้น ๆ ไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย สังคม ส่วนรวม โดยการมอบหมายให้จัดทำโครงการมี 3 ลักษณะ คือ 1) อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้กำหนดเรื่องให้ 2) อาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนดเรื่อง และ 3) ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเรื่องเอง
          การจัดโครงการในรายวิชามี 2 รูปแบบ คือ 1) แบ่งกลุ่มย่อย โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน/นักศึกษาเลือกสมาชิกในแต่ละกลุ่มเอง 2) กลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวจัดโครงการร่วมกัน  
         ขั้นตอนที่ 3ผู้เรียนร่วมกันระดมความคิดคิดโครงการที่สอดคล้องกับรายวิชา หรือ โครงการที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษารายวิชานั้น ๆ ไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย สังคม ส่วนรวมจากนั้นนำโครงการที่คิดมาเสนอต่ออาจารย์ผู้สอนซึ่งครอบคลุมในประเด็น 1) ที่มาของโครงการ 2) วัตถุประสงค์ของโครงการ 3) กลุ่มเป้าหมายของโครงการ 4) รูปแบบในการจัดโครงการ 5) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
           อาจารย์ผู้สอนซักถาม ให้คำแนะนำ โครงการใดมีความชัดเจนสอดคล้องกับรายวิชา หรือ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษารายวิชานั้น ๆ ไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย สังคม ส่วนรวมได้ อาจารย์ผู้สอนจะให้ผ่านการนำเสนองาน หากโครงการใดมีความไม่ชัดเจน เป็นไปไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์อาจารย์ผู้สอนจะให้ผู้เรียนกลับไปคิดโครงการใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วกลับมานำเสนอใหม่จนกว่าอาจารย์ผู้สอนจะให้ผ่านการนำเสนองาน
         ขั้นตอนที่ 4ผู้เรียนประชุมร่วมกันเพื่อสรรหาคณะกรรมการจัดโครงการเพื่อแบ่งบทบาท ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบ ด้วยการเลือกประธานโครงการ, รองประธานโครงการ, เหรัญญิก, เลขานุการ, ฝ่ายเอกสาร, ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ, ฝ่ายสปอนเซอร์, ฝ่ายวัสดุและอุปกรณ์, ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์และฝ่ายกิจกรรม เป็นต้นคณะกรรมการจัดโครงการประชุมร่วมกันเพื่อนำเสนอโครงการ แนวคิดและรูปแบบของงาน กลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะจัดงาน สถานที่ การวางแผนการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ วิทยากร ฯลฯ แล้วนำเสนออาจารย์เพื่อขออนุมัติ
                             อาจารย์ผู้สอนพิจารณาโครงการและโครงสร้างคณะกรรมการจัดโครงการ หากมีความเหมาะสม ชัดเจน อาจารย์ผู้สอนจะอนุมัติให้จัดโครงการ โดยทำเรื่องผ่านระบบ e-office ให้ หากตัวโครงการยังไม่มีความชัดเจนอาจารย์ผู้สอนให้คำแนะนำแล้วตีกลับโครงการ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปปรับปรุงแก้ไข แล้วนำเสนอใหม่จนกว่าจะผ่านการอนุมัติ อาจารย์ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
         ขั้นตอนที่ 5ขั้นปฏิบัติงาน/ขั้นดำเนินโครงการ คณะกรรมการจัดโครงการ (ผู้เรียน) ดำเนินงานตามที่ระบุไว้ในการขออนุมัติโครงการ เช่น ทำบันทึกข้อความเชิญประธานกล่าวเปิดงาน ทำจดหมายเชิญวิทยากร ทำบันทึกข้อความเชิญอาจารย์เข้าร่วมงาน ประสานงานยืมอุปกรณ์ ขอความอนุเคราะห์ใช้สถานที่ สคริปต์พิธีกร คำกล่าวเปิดงาน-คำกล่าวรายงาน การจัดซื้อ-จัดจ้าง ฯลฯ โดยมีอาจารย์ผู้สอนให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะตามสมควร โดยการดำเนินงานในแต่ละฝ่าย แต่ละบุคคลมาจากวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเองและในชั้นเรียน และ/หรือมาจากนักศึกษารุ่นพี่ที่เคยผ่านการจัดโครงการมาแล้วมาเล่าประสบการณ์ให้นักศึกษารุ่นน้องฟัง
                   อาจารย์ผู้สอนให้คำแนะนำและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการของผู้เรียนในแต่ละสัปดาห์
         ขั้นตอนที่ 6 คณะกรรมการจัดโครงการ (ผู้เรียน) ซ้อมใหญ่ (run through) เพื่อซักซ้อมคิวงานต่างๆ ทดสอบระบบเสียง ฯลฯ ก่อนวันจริง
         ขั้นตอนที่ 7คณะกรรมการจัดโครงการ (ผู้เรียน) จัดโครงการตามวันเวลาที่กำหนด โดยอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่เริ่มงานจนงานเสร็จสิ้น โดยดูภาพรวมของโครงการว่าดำเนินการตามกำหนดการที่ได้ระบุไว้หรือไม่ ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีม เป็นต้น
         ขั้นตอนที่ 8 ประชุมคณะกรรมการจัดโครงการ ทีมงานแต่ละฝ่ายสรุปการทำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำงานและสิ่งที่ได้จากการจัดโครงการ ประธานโครงการสรุปกิจกรรมในภาพรวม อาจารย์ผู้สอนสรุปความสำเร็จของการจัดโครงการและสิ่งที่ต้องพัฒนา ปรับปรุง
         ขั้นตอนที่ 9 คณะกรรมการจัดโครงการจัดทำรูปเล่มรวบรวมผลงานตั้งแต่เริ่มโครงการจนโครงการสิ้นสุดเพื่อนำเสนออาจารย์ผู้สอนและใช้เป็นข้อมูลในการประเมินการทำงาน
                   คณะกรรมการจัดโครงการประเมินตนเองรายบุคคล หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายประเมินสมาชิก ประธานโครงการประเมินหัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่าย 
เทคนิคที่ 2 เพื่อนช่วยเพื่อน (Peer-Assisted Learning Strategies) ประกอบด้วย 8 ขั้นตอนคือ
         ขั้นตอนที่ 1อาจารย์ผู้สอนบรรยายให้ความรู้ ครอบคลุมเนื้อหาที่ระบุไว้ รวมทั้งชี้แจงนักศึกษาถึงวิธีการสอน การฝึกปฏิบัติจัดโครงการหรือโครงงานในรายวิชานั้น ๆ ตามมคอ.3 ที่ได้จัดทำไว้
          ขั้นตอนที่ 2 อาจารย์ผู้สอนมอบหมายงานให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติ โดยมีรูปแบบกลวิธีการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน 2 รูปแบบคือ 1) การสอนโดยเพื่อนร่วมชั้น (Classwide-Peer Tutoring) เป็นการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั้งสองที่จับคู่กันมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนทั้งสองสลับบทบาททั้งเป็นนักเรียนผู้สอนที่คอยถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนผู้เรียน และนักเรียนผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการสอน และ 2) การสอนโดยการจับคู่ (One-to-One Tutoring) เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนที่ความสามารถทางการเรียนสูงกว่าจับคู่กับผู้เรียนที่มีการเรียนต่ำกว่าด้วยความสมัครใจของตนเอง แล้วทำหน้าที่สอนในเรื่องที่ตนมีความสามารถ ความถนัดและมีทักษะที่ดี ซึ่งผู้เรียนสามารถจับคู่กันได้ตามความสมัครใจ                             
                    ขั้นตอนที่ 3 ผู้เรียนร่วมกันทบทวนสิ่งที่อาจารย์ผู้สอนได้มอบหมายงานให้ฝึกปฏิบัติว่าอาจารย์ผู้สอนสั่งงานอะไร มีหัวข้อที่ต้องไปศึกษาค้นคว้าอย่างไรหรือต้องทำอะไร กำหนดส่งเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นการทบทวนว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในงานที่อาจารย์ผู้สอนมอบหมายมากน้อยแค่ไหน เข้าใจตรงตามผู้สอนกำหนดหรือไม่
                    ขั้นตอนที่ 4ผู้เรียนระดมความคิดในหัวข้อที่ได้รับมอบหมายมาจากอาจารย์ผู้สอน ดำเนินการศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ผ่านทางแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
          ขั้นตอนที่ 5 ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในการทำงานตามที่อาจารย์ผู้สอนมอบหมาย
          ขั้นตอนที่ 6 หลังจากทำงานตามที่อาจารย์มอบหมายเสร็จเรียบร้อย ผู้เรียนเอาผลงานมานำเสนอเพื่อน อาทิ กรณีการฝึกปฏิบัติด้านทักษะการพูด ผู้เรียนฝึกพูดต่อหน้าคู่ของตนเองโดยสลับกันฝึกปฏิบัติตามความเหมาะสมทั้งในและนอกเวลาเรียน ผลัดกันให้คำวิจารณ์ ติชม และให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขการพูดแก่คู่ของตน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนนำเสนออาจารย์
          ขั้นตอนที่ 7 นำเสนอจริงในห้องเรียน
                   ขั้นตอนที่ 8 อาจารย์ผู้สอนให้ข้อคิดเห็น ข้อแนะนำ เพื่อให้การนำเสนองานของนักศึกษาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น