สรรมาฝากจาก KM ตอนที่ 2

ครูสีฟ้า : เส้นทางสู่ Good Practice กับเทคนิคการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน
พยาบาล ถือเป็นวิชาชีพแรกในแปดวิชาชีพ ที่มีการลงนามตกลงให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ดังนั้น วิชาชีพพยาบาลจึงต้องมีการตื่นตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมอาเซียน และทำความเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้บริการสุขภาพ
 จากประสบการณ์การฝึกปฏิบัติวิชาการพยาบาลชุมชนในหลากหลายพื้นที่พบว่า มีประชาชนในชุมชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจากบุคลากรทางสาธารณสุข และในจำนวนนี้พบว่ามีประชาชนชาวต่างชาติจากประเทศอาเซียนอาศัยปะปนอยู่ในชุมชนด้วย
ที่ผ่านมานักศึกษาประสบกับปัญหาไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจในการซักถามภาวะสุขภาพของบุคคลเหล่านี้ได้ เนื่องจากเหตุผลทางวัฒนธรรมภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้บุคคลเหล่านี้ถูกละเลยในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ควรได้รับการตอบสนองตามหลักสิทธิมนุษยชน และจรรยาบรรณทางการพยาบาล
และจากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดการความรู้ในครั้งนี้ ซึ่งตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ที่ 3 : ยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพบัณฑิตตามอัตตลักษณ์ของสวนสุนันทา ภายใต้หัวข้อพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยมีหัวข้อการจัดการความรู้ เทคนิคการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษาพยาบาลด้านการสื่อสารในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลอนามัยชุมชนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน
โดยมีการปรับปรุงคู่มือการซักประวัติและประเมินภาวะสุขภาพให้รองรับในความแตกต่างด้านภาษา 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และภาษากัมพูชา ปัญหาการถูกละเลยในการดูแลภาวะสุขภาพแก่ชาวต่างชาติที่เกิดจากอุปสรรคด้านการสื่อสารจะถูกขจัดไป และช่วยลดช่องว่างในการดูแลภาวะสุขภาพของประชาชนในชุมชน ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ดำรงชีวิตอย่างมีความกลมกลืนในภาวะสุขภาพที่ดี บนพื้นฐานของความเท่าเทียมในด้านการได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน อันจะก่อให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต

ซึ่งกระบวนการดำเนินงานทั้งหมด สามารถปฏิบัติควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาได้ โดยจะก่อให้เกิดผลลัพธ์มากกว่าการฝึกปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะช่วยให้นักศึกษาตระหนักในความสำคัญของการเตรียมตัวทางด้านสุขภาพเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต และช่วยหล่อหลอมให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของความเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน ช่วยหล่อหลอมให้เป็นผู้มีจรรยาบรรณวิชาชีพพยาบาลที่ดี โดยผลลัพธ์ที่ได้จะเพิ่มพูนทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์การดูแลภาวะสุขภาพของคนต่างเชื้อชาติ การลดช่องว่างทางภาษา และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพในการจัดทำคู่มือซักประวัติ โดยผลลัพธ์สุดท้าย จะก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญของการพยาบาลอนามัยชุมชนนั่นเอง