รายงานการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความความรู้ และถ่ายทอด One Stop Service ไปสู่หน่วยงาน
หลังจากที่ได้กลั่นกรองความรู้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้านายรวีโรจน์ สิงห์ลำพอง ในฐานคุณอำนวยของกลุ่มความรู้ เทคนิคการให้บริการ One stop service ของกองกลาง สำนักงานอธิการบดี ได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มงานให้บริการ One stop service ของคณะครุศาสตร์ โดยได้ให้ข้อมูลแนวทางการปฏิบัติ โดยเริ่มจากกล่าวถึงความหมายและความสำคัญ ของ การบริการ ซึ่งได้ยกหลักการและทฤษฎีต่างๆ ประกอบให้เห็นชัด แล้วจึง จำกัดขอบเขตให้แคบลงมาเป็น หลักการให้บริการในมหาวิทยาลัย โดยยกตัวอย่างแนวคิดของ วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่กล่าวว่างานบริการในมหาวิทยาลัย เป็นงานบริการที่จัดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษ ในด้านความเป็นอยู่ และการศึกษาเล่าเรียน เช่นงานบริการทั่วไป งานบริการวิชาการเป็นต้น และ สำเนาว์ ขจรศิลป์ ที่กล่าวว่างานบริการสำหรับนักศึกษา เป็นกระบวนการที่ช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีความสมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตใจ ในขณะที่ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ได้ให้แนวคิดว่างานบริการในมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปมี 4 รูปแบบ คือ งานบริการด้านวิชาการ บริการด้านสวัสดิการ บริการด้านการพัฒนา บริการด้านการปกครอง
จากนั้นจึงนำเข้าสู่ รูปแบบของการให้บริการ แบบ One Stop Service ว่ามีหลักการอย่างไร ซึ่ง สามารถสังเคราะห์ความรู้ออกมาโดยสรุปได้ว่า One Stop Service คือการนำงานที่ให้บริการทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง มารวมให้บริการอยู่ในสถานที่เดียวกันในลักษณะที่ส่งต่องานระหว่างกันทันที หรือเสร็จในขั้นตอนหรือจุดให้บริการจุดเดียว โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การให้บริการมีความรวดเร็วขึ้นรูปแบบของการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ รูปแบบที่สำคัญอยู่ 4 ลักษณะ คือ
รูปแบบที่ 1 การนำหลายหน่วยงานมารวมให้บริการอยู่ในสถานที่เดียวกัน
รูปแบบที่ 2 กระจายอำนาจมาให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ
รูปแบบที่ 3 ยุบรวมขั้นตอนเดิม สร้างระบบการให้บริการใหม่
รูปแบบที่ 4 การให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เนต ได้ทันที (ผ่านทางเว็บไซต์)
One Stop Service
ลักษณะเด่น
1. เน้นความรวดเร็ว
2. ใช้ประโยชน์ จาก IT เป็นตัวช่วยสำคัญ
3. ให้อำนาจแก่ผู้ปฏิบัติ
4. บุคลากรปัจจุบันสามารถเข้าใจ และปรับตัวให้เข้าสู่งานได้ง่าย
สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อจะจัดบริการ One Stop Service
1. วิเคราะห์งานที่จำเป็น จะดึงงานอะไรมาให้บริการได้บ้างในระดับคณะ
2. วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ใครบ้าง (อาจารย์ / นศ. / บุคลากร)
3. ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดบริการ
4.จัดสรรกำลังคนผู้รับผิดชอบ สถานที่ ออกแบบการให้การบริการทั้งระบบ
5. นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการ
6.งานที่จัดบริการควรมีความสอดคล้องกับความต้องการของบุคคลส่วนใหญ่
7.หลักความสม่ำเสมอ คือการให้บริการนั้นๆจะต้องดำเนินการไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่ทำๆหยุดๆ
ตามความพอใจของผู้ให้บริการหรือผู้ปฏิบัติงาน
8.บริการด้วยหลักความเสมอภาค
9.คำนึงถึง งบประมาณ และความคุ้มค่าที่ได้รับ
10.หลักความสะดวก
แล้วจึงนำเข้าสู่การอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากประสบการณ์ มีการซักถาม อภิปรายแลกเปลี่ยนกันโดยกว้างขวาง ในระเวลาของการแบ่งปันแลกเปลี่ยน 2 ชั่วโมง
.........................................