พรรณไม้ และภาพเขียนสีน้ำของพระวิมาดาเธอฯ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ พระวิมาดาเธอฯ ทรงประชวรด้วยโรคปัสสาวะหวาน จึงได้เสด็จไปประทับกับพระราชโอรส คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ณ วังลดาวัลย์ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) และการพักผ่อนที่ทรงโปรดปรานมากที่สุดก็คือการปลูกต้นไม้ เมื่อทรงหายประชวรแล้ว ทรงเห็นว่าวังที่เคยประทับอยู่มีเนื้อที่บริเวณน้อย ไม่พอกับการปลูกต้นไม้ พระองค์จึงคิดหาที่ประทับให้เพลิดเพลินพระทัยปลูกต้นไม้ยามว่าง จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะเสด็จมาประทับ ณ สวนสุนันทา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้ว พระบรมวงศ์ฝ่ายในและเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีความประสงค์จะเข้ามาอยู่ ก็ได้ตามเสด็จพระวิมาดาฯ ในคราวเดียวกัน
สวนสุนันทา เป็นสถานที่ที่มีโขดเขาคูคลอง มีสวนพฤกษชาติและตำหนักเรียงรายทั่วไป มี ทุกตำหนักมีการปลูกไม้ดอกไม้ใบอย่างงดงาม สภาพบริเวณรอบตำหนักปลูกไม้ดอกแทบทุกประเภทงามละลานตา ไม้ดอกที่สำคัญคือ กุหลาบกล้วยไม้ ซึ่งมีทุกชนิดทุกประเภท หน้าตำหนักมีสนามหญ้าขนาดใหญ่มีถนนโค้งโดยรอบ และปลูกไม้ดอกต่างๆ โดยเฉพาะกุหลาบหลายร้อยต้นทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมสาธิตในปัจจุบัน
มีเรือนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ มีกล้วยไม้ชั้นดีทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ความสวยงามของไม้ดอกไม้ใบที่ประดับประดาโดยรอบพระตำหนักยามออกดอกสะพรั่งหลายสี มีกลิ่นหอมอบอวลทั่วไป อีกทั้งยังมีเนินดินใหญ่แห่งหนึ่งมีต้นไม้หลายพันธ์ ปลูกอยู่บนเนินดินยิ่งทำให้เนินนี้ดูสูงเด่นคล้ายภูเขาธรรมชาติอันสวยงาม เนินดินแห่งนี้ เริ่มมีมาตั้งแต่การก่อสร้างตำหนักเพราะต้องมีการขุดดินบางส่วนขึ้นมา โดยเฉพาะมีการขุดสระใหญ่ ดินที่เหลือจึงนำมาถมกลายเป็นเนินเขา ข้างใต้เนินดินก็ได้สร้างเป็นอุโมงค์เอาไว้ เมื่อพระวิมาดาเธอฯ เสด็จมาประทับได้ทรงใช้อุโมงค์นี้เป็นที่เก็บข้าวของ เครื่องใช้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องต้นซึ่งทรงมีอยู่มากทางด้านหลังของตำหนักเป็นสระบัว บัวที่ทรงปลูกมีมากมายหลายชนิด หลากพันธ์ หลากสี มีทั้งกอเป็นสระบัว มีน้ำพุ และทั้งที่ ปลูกในกระถางที่ชายฝั่งริมสระ มีตำหนักน้ำสร้างด้วยไม้ ๒ หลัง สำหรับประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและลงเสด็จประทับเรือพาย ประพาสตามบริเวณสระ ตำหนักของพระวิมาดาเธอฯนั้นจัดว่าเป็น ศูนย์กลางของอาณาจักรแห่งความงดงามในวนอุทยานโดยแท้
นักพฤกษศาสตร์ และภาพเขียนสีน้ำ
ในยามว่างเว้นจากพระภารกิจ ยังโปรดต้นไม้มาก ทรงปลูกที่หน้าตำหนักจนกลายเป็นสวนอุทยานขนาดย่อม ร่มรื่นด้วยแมกไม้ธรรมชาติอันสวยงาม และกลิ่นอายของสวนป่า ทรงโปรดต้นกล้วยไม้และกุหลาบเป็นพิเศษ ทรงใช้จ่ายเงินมากเพื่อซื้อต้นไม้ ดอกไม้ มาทรงปลูก ไม้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นลั่นทมขาว พุทธชาดสีเหลือง ต้นเล็บนางฟ้า ดอกไม้ใดๆ พันธุ์ต่างๆ แปลกๆทรงปลูกที่สวนสุนันทาเป็นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยก็ว่าได้” ในการเสด็จประพาสยุโรป ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซื้อกล้วยไม้ กุหลาบ และพันธุ์ไม้ต่างๆ มาพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ
อันกล่าวได้ว่าในสมัยที่พระองค์ประทับที่สวนสุนันทานั้น บริเวณรอบตำหนักจะคลาคล่ำไปด้วยสีสันพรรณไม้นานาชนิด ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลด้วยดอกกุหลาบ ลั่นทม สารภี ลำดวน นมแมว มะลิ หน้าวัว พุทธชาด เล็บนางฟ้า และแก้วเจ้าจอมโดยเฉพาะต้น แก้วเจ้าจอมนั้น เป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาจากชวาเมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะชวา โดยทรงนำมาปลูกไว้ที่สวนสุนันทา เป็นดอกสีม่วงคราม มี ๕ กลีบ เกสรสีเหลืองงดงามมาก และต่อมาดอกแก้วเจ้าจอมได้กลายเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ในช่วงบ่ายถึงค่ำ จะทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรไม้ดอกต่างๆ ด้วยความสนพระทัยยิ่ง โดยมีข้าหลวงและมหาดเล็กร่วมด้วย อาทิ ผู้เชิญพระกลด หีบหมากเสวย ซับพระพักตร์ บ้วนพระโอษฐ์ และในทุกๆเช้าโปรดให้ข้าหลวง ในพระองค์วาดรูปดอกไม้ที่ทรงปลูกไว้ให้เหมือนจริงมากที่สุด พร้อมระบายสีน้ำ โดยเฉพาะดอกกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ แล้วจึงนำขึ้นถวายทอดพระเนตร ถ้าทรงเห็นว่ายังวาดไม่งามเหมือนของจริงก็จะทรงปล่อยให้วาดต่อไป จนกว่าจะพอ พระทัย ข้าหลวงที่มีฝีมือเช่นคุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ โดยพระองค์จะทรงชี้แนะและวิจารณ์เพื่อให้แต่ละภาพ เป็นเช่นต้นแบบตามธรรมชาติทั้งรูปทรงและสีสัน ภาพวาดเหล่านี้ เท่าที่รวบรวมได้ในปัจจุบันมีจำนวน ๑๑๗ ภาพ โปรดให้ข้าหลวงวาดตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ยังเก็บรักษาไว้ที่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ
คุณข้าหลวงอมรในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราช ปดิวรัดา
จากการสืบค้นเกี่ยวกับชีวประวัติของคุณข้าหลวงอมรยังไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า คุณข้าหลวงอมรเป็นข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ มีหน้าที่ในการเขียนภาพสีน้ำรูปดอกไม้ตามพระประสงค์ของพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งพระองค์ท่านทรงโปรดปราน และทรงให้ปลูกต้นไม้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ใบ หรือ ไม้ผล ดังบันทึกมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาว่า พระวิมาดาเธอฯ ยังโปรดให้บันทึกภาพดอกไม้ทุกดอกทุกชนิดในสวนสุนันทาไว้โดยการวาด ผู้ที่มีหน้าที่เขียนภาพสีน้ำรูปดอกไม้ดังกล่าวทุกเช้าคือ คุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ์ การเขียนภาพจะต้องเขียนให้เหมือนจริงทั้งสีและรูปทรงของดอกไม้จึงจะเป็นที่พอพระทัย ดังที่ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า “ถ้าพระวิมาดาฯ ประทับในสวนตอนเช้า ก็ให้เขียนภาพดอกไม้กำลังบาน ถ้าประทับอยู่ในวังแต่ละวันฉันต้องนั่งอยู่ปลายพระบาทมีหน้าที่วาดรูป ถ้าวาดไม่สวย ไม่เหมือน ไม่ถูกพระทัยก็ต้องวาดใหม่จนกว่าจะพอพระทัย... เขียนรูปภาพ ดอกไม้ ต้นไม้ จนเป็นโรคลำไส้ จบแผ่นหนึ่งๆ ต้องเอาไปถวายให้ทอดพระเนตร ถ้าไม่เหมือนก็ต้องเขียนใหม่”
นอกจากคุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ์แล้วปรากฏชื่อของผู้ที่เขียนภาพสีน้ำดอกไม้ในสวนสุนันทาที่จารึกกำกับใต้ภาพอีกหลายท่าน ได้แก่ คงจรัณยานนท์ จวง เฉลิม เชื่อ เปรื่อง (เพาะช่าง) เพียว ท. แก้วศิริ โพธิ์ เฟื้อม สุดจิตร์ สุวรรณ์ พูลพิทักษ์ เส็ง เสงี่ยม เสนอ อำภาร์ เปลื้อง และชื่อซึ่งเป็นนามแฟงของคุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ์ คือ ม.ร. และมอญ
คุณข้าหลวงมอญวาดภาพอยู่ตลอดชีวิตที่ พระวิมาดาเธอฯ เสด็จอยู่ คุณข้าหลวงมอญศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ไม่เคยศึกษาเรื่องการวาดรูป แต่ก็สามารถวาดภาพได้อย่างสวยงาม เมื่อพระวิมาดาเธอฯ ทรงเห็นดอกไม้เห็นว่าสวย จะเรียกคุณข้าหลวงให้มาวาดทันที ต้องวาดจนสวย และเหมือนของจริง บางทีดอกเดียวต้องเขียนถึง ๑๐ แผ่น เขียนรูปได้อ่อนช้อยเส้นสวยงาม บางครั้งก็ไปเขียนที่เรือนกล้วยไม้ ซึ่งมีโต๊ะกลม มีที่นั่ง บางครั้งก็ไปเสวยน้ำชาที่เรือนกล้วยไม้เลย บางครั้งก็ลงมาชมดอกไม้ถึงสองยามตีหนึ่ง
ภาพเขียนสีน้ำเหล่านี้ใช้เทคนิคสีน้ำถ่ายทอดความงามในลักษณะเหมือนจริง (Realistic) ถ้าใครได้ดูต่างก็ชื่นชมในฝีมือ เพราะผลงานเหล่านี้เกิดจากความอุตสาหะวิริยะของผู้ที่มิได้เรียนศิลปะมาโดยตรง หากแต่สามารถวาดภาพได้สวยสดงดงาม และในภาพแต่ละภาพจะระบุชื่อของดอกไม้ไว้เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วยลายมือ มีวันเดือนปี และลายเซ็นผู้วาดภาพระบุไว้ด้วย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีบางภาพไม่ปรากฏข้อมูลดังกล่าวชัดเจน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเลือนรางหายไปเนื่องจากภาพเหล่านี้มีอายุร่วม ๘๐ กว่าปีมาแล้ว