การออกแบบการจัดกิจกรรมโดยใช้ทักษะชีวิต

การออกแบบกิจกรรมโดยใช้ทักษะชีวิตของกองพัฒนานักศึกษา เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมร่วมกัน จำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม Love Yourself Safe Your SEX ก่อน Say “Yes” ต้อง Get AIDS, กิจกรรม SSRU 20,000 ฝาสร้างบ้านปลา, กิจกรรม “ทำไมต้องกินผักผลไม้วันละ 4 ขีด”, และกิจกรรม “SSRU Anti Covid-19 ” โดยใช้แบบสอบถามและการสังเกตในการประเมิน พบว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจในรูปแบบของกิจกรรมทั้ง 4 กิจกรรม ร้อยละ 95 และนักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมโดยใช้ทักษะชีวิต จำนวน 25 ราย เกิดทักษะในการดำเนินงานที่ส่งเสริมภาวะความเป็นผู้นำ ได้แก่

  1. ทักษะด้านการสื่อสาร นักศึกษาได้นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการติดต่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ทำให้นักศึกษาสามารถนำความรู้มาออกแบบ การนำเสนอกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ และสามารถปรับรูปแบบของกิจกรรมให้เหมาะกับสถานการณ์ นักศึกษาสามารถถ่ายทอดความรู้ประสบการ์ ผ่านโปรแกรมสนทนา (Chat), ผ่านกระดานสนทนา (web-board)
  2. ทักษะด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  จะเห็นได้ว่าปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกทำให้นักศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เกิดความร่วมมือระหว่างนักศึกษา, ระหว่างหน่วยงาน, และหน่วยงานภายนอก ซึ่งทักษะด้านปฏิสัมพันธ์ที่ดีสามารถต่อยอดสร้างให้เกิดการจ้างงานให้กับนักศึกษาได้ ดังเช่นนักศึกษาที่ทำกิจกรรม โครงการ “20000 ฝาสร้างบ้านปลา” สามารถร่วมงานกับ SCG ได้หลังจากทำกิจกรรม
  3. ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ โดยนำปัญหาที่เกิดจากอดีตนำมาวางแผนหาบทเรียนร่วมกันหาแนวคิดและวิธีการที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาคณะอื่นเข้าร่วมกิจกรรม เพราะจากการดำเนินงานที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมโดยมีองค์กรเป็นผู้จัด นักศึกษาไม่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน การหาแนวทางที่สอดคล้องตรงความต้องการ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเป็นการฝึกให้นักศึกษามีกระบวนการคิดที่เป็นระบบเป็นขั้นตอน
  4. ทักษะด้านการตัดสินใจ การกำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับนักศึกษาทำให้นักศึกษาแต่ละคนต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบงานในส่วนงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น หัวหน้าทีม มีหน้าที่ควบคุมดูแล วางแผนการดำเนินงาน, ฝ่ายประสานงาน มีหน้าที่ ติดต่อส่วนงานที่เกี่ยวข้อง, นัดหมายเวลาในการทำงานร่วมกันของสมาชิก จัดหาเทคนิค วิธีการ และเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการดำเนินงาน, เหรัญญิก มีหน้าที่ในการควบคุมรายรับ-รายจ่าย วางแผนการเงิน ฯลฯ นักศึกษามีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบส่วนงานต่าง ๆ เป็นการฝึกทักษะให้นักศึกษาเกิดภาวะผู้นำ

ทักษะด้านการแก้ปัญหา การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิท การจัดกิจกรรมไม่สามารถรวมกลุ่มทำกิจกรรมได้ นักศึกษาแก้ปัญหาโดยการ Live สดให้กับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้ จากกิจกรรมโครงการ “SSRU Anti Covid-19 ”

          จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมได้เสริมสร้างทักษะชีวิต หรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ใน
สังคม ด้วยกระบวนการทางจิตวิทยาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ด้วยกระบวนการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง กระบวนการการเรียนรู้ร่วมกัน และกระบวนการในการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการพัฒนาทักษะ ความสามารถส่งผลทำให้เกิดรูปแบบการทำงานเป็นทีม อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทักษะชีวิตให้กับนักศึกษาต่อไป