การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม : วิทยาลัยนานาชาติ

การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม 

          1. หลักการทำงานในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม

              สมาชิกได้เรียนรู้หลักการทำงานโดยใช้ 4 E ประกอบด้วย

              1.1. Empowerment (การสร้างพลัง) มีการสร้างพลัง 2 ทางได้แก่ Internal Empowerment คือ การใช้ความรู้ความสามารถของสมาชิกภายในกลุ่มในการสร้างพลังให้แก่กันโดยร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มกำลัง จนงานสำเร็จ และ External Empowerment คือ การสร้างพลังให้แก่สมาชิกในกลุ่ม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม    

              1.2. Engagement (การสร้างความผูกพัน) สมาชิกภายในกลุ่มมีความผูกพันกันโดยการนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ รวมทั้งจากการไปศึกษาค้นคว้าตามที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโอกาสที่พบกันแบบไม่เป็นทางการและภายในกลุ่ม ก่อนสรุปข้อคิดเห็นหรือแนวคิดให้เป็นหนึ่งเดียวกันในที่ประชุม

             1.3. Empathy (การเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น) สมาชิกมีการปรึกษาและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในระหว่างทำงานร่วมกัน มีการช่วยเหลือกันในการศึกษาหาข้อมูลในกรณีที่เพื่อนสมาชิกในกลุ่มมีข้อมูลที่ต้องไปศึกษาและนำมาเสนอยังไม่เพียงพอ หรือช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่กรณีที่สมาชิกในกลุ่มเมื่อติดภารกิจสำคัญ

             1.4. Encouragement (การให้กำลังใจ) สมาชิกมีการสนับสนุนและให้กำลังใจซึ่งกันและกันตลอดระยะเวลาการทำงาน โดยชื่นชมความสามารถของสมาชิกเมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และเสนอแนะเพิ่มเติมข้อมูลที่นำมาเสนอยังไม่สมบูรณ์ เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ของกลุ่ม

         2. แนวทางการดำเนินงาน

             การดำเนินงานในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม ควรดำเนินงานเป็นกลุ่มงาน เพื่อช่วยกันศึกษาทั้งในภาพรวมที่เป็นระบบและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงาน กระบวนการหรือวิธีการ ตลอดจนผลที่เกิดหรือผลกระทบของการดำเนินงาน การศึกษาแหล่งทุนวิจัย เงื่อนไขและข้อกำหนดของทุนของแต่ละแหล่ง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมร่วมกันในกลุ่ม โดยการประชุมสมาชิกกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2 เดือนต่อครั้ง ทำให้เกิดองค์ความรู้ ดังนี้

             2.1 การสอบถามความต้องการของสมาชิกในการเข้าร่วมชุมชนนักปฏิบัติพบว่าองค์ความรู้ที่สมาชิกมีความต้องการต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ “แนวการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม”ที่สามารถขอทุนอุดหนุนจากแหล่งทุนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และสอบถามสมาชิกท่านใดเคยได้รับทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม พบว่า จากผลการดำเนินงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีอาจารย์สมาชิกจำนวน 4 ท่าน ได้แก่ผศ.ดร.กรองทอง ไคริรี ผศ.ดร.จันทร์ชัย หญิงประยูร รศ.ฉวีวรรณ แก้วไทรฮะ และอาจารย์พงศ์ระพี แก้วไทรฮะ ได้ทำการวิจัยที่สอดคล้องกับการสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม

             2.2 การสำรวจและรวบรวมองค์ความรู้ ความสามารถ ของสมาชิก และให้สมาชิกเสนอผู้ที่มีความเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ คุณเอื้อ สามชิกเสนอ รศ.ทัศนีย์ ศิริวรรณ และสมาชิกเลือกบทบาทหน้าที่ของตนประกอบด้วย คุณวิศาสตร์ คุณอำนวย คุณประสาน คุณลิขิต และคุณกิจ ในที่ประชุมและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานในแต่ละบทบาทและหน้าที่ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในบทบาทและหน้าที่ร่วมกัน

              2.3 กำหนดแนวทางการดำเนินงานในที่ประชุม ทำให้เกิดการเรียนรู้ในการกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ กำหนดกรอบแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม โดยให้เป็นไปตามแนวทางของมหาวิทยาลัยและแนวทางระดับชาติ และความต้องการของหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย

             2.4 ประชุมอบรมการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม โดยมีผู้คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ และ รศ.ฉวีวรรณ แก้วไทรฮะ ให้ความรู้ด้านการทำโครงการขอทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมบอกเล่าเกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอขอทุนวิจัย และเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยด้านนวัตกรรมมาบรรยาย ให้สมาชิกมีความเข้าใจในหลักการเขียนข้อเสนอโดยเน้นประเด็นสำคัญของหน่วยงานที่ให้ทุน และถอดบทเรียนจากการประชุมเพื่อเตรียมจัดทำแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม

            2.5 ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในบทสรุปสิ่งที่สมาชิกได้ สืบค้น ติดตาม แหล่งสนับสนุนเงินทุนวิจัยและข้อกำหนดการขอทุนวิจัย และกำหนดแนวการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม ได้ถูกต้องตรงตามความต้องการของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย

             2.6 ประชุมปฏิบัติการอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมไปยังหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัย โดยมีผู้คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ และรศ.ฉวีวรรณ แก้วไทรฮะ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์ให้สามารถเขียนโครงการวิจัยที่สร้างองค์ความรู้นวัตกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และใช้เอกสารแนวปฏิบัติที่ดีให้อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติประกอบการให้ความรู้ของวิทยากร ทำให้สมาชิกเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำเอกสารแนวการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

             2.7 ประชุมสรุปผลการดำเนินงานและจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน

 3. แนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมของสาขาวิชา

      การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมประกอบด้วย

  1. ชื่อโครงการ ระบุทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

           ชื่อผู้วิจัย: ระบุชื่อหัวหน้าโครงการวิจัย และผู้วิจัยร่วม

     3.2 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

การเขียนขอทุนวิจัยระดับกระทรวงควรกล่าวถึงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ และแผนการปฏิรูปประเทศ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย และนโยบายรัฐบาลในด้านการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีประเด็นเร่งด่วนในด้านคนและการศึกษา แต่ในระดับองค์กรหรือหน่วยงานบางแห่งอาจไม่กล่าวถึง นอกจากนี้ต้องกล่าวถึงบริบทในการสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม นวัตกรรมที่สำคัญและน่าสนใจในยุคปัจจุบัน และนวัตกรรมใดที่เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบาย แนวคิด ของแหล่งให้ทุนวิจัย ตัวอย่างงานหรืองานวิจัยขององค์กรอื่น ที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาใช้หรือประยุกต์ใช้ได้ ผลที่เกิดและผลลัพธ์ จากการดำเนินงานโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมที่ผู้วิจัยเสนอนวัตกรรมที่สำคัญและน่าสนใจในยุคปัจจุบันสามารถเกิดประโยชน์ต่อองค์กร หน่วยงาน และสาธารณชนได้ รวมทั้งระบุ ศักยภาพ ความสามารถ และผลงานของผู้ขอทุนวิจัย รวมทั้งเขียนข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้และความสามารถของสมาชิกในกลุ่มหรือในสาขา ที่สามารถดำเนินการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมที่สอดคล้องกับ นโยบาย แนวคิด ของแหล่งทุน เพื่อต้องการสร้างองค์ความรู้หรือพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับสาขาวิชาดังเช่น สมาชิกในกลุ่ม 3 ได้เสนอเกี่ยวกับความพร้อม ความสามารถของบุคลากรในสาขาคณิตศาสตร์ศึกษา และภารกิจของสาขาที่สามารถดำเนินการพัฒนาหรือแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับ นโยบาย แนวคิด โครงการต่างๆ ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และได้รับทุนวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ผลการสอบO-NET เพื่อพัฒนาบทเรียนออนไลน์แบบเปิดเพื่อมหาชนสำหรับแก้ไขมโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนและข้อผิดพลาดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และได้รับทุนวิจัยทำโครงการส่งเสริมครูเพื่อสร้างบทเรียนออนไลน์ เพื่อยกระดับการศึกษาไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

    3.3 วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย ให้ศึกษาชื่อทุนวิจัยที่ให้เป็นหลักในการเขียน ไม่ควรเกิน 3 ข้อ

3.4 เป้าหมายของการวิจัย ระบุเป้าหมายของผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และตัวชี้วัดให้ชัดเจน ตามหน่วยงานหรือแหล่งทุนต้องการ รวมทั้งต้องพิจารณาจำนวนงบประมาณ หรือเงินทุนที่คาดว่าจะได้รับให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายวิจัย

    3.5 นิยามศัพท์ กล่าวให้ความหมายคำที่ใช้ในงานวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่าน

    3.6 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ควรศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับชื่องานวิจัยเป็นหลักและเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ

    3.7 วิธีดำเนินการวิจัย ระบุประเภทการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย ( ระบุประชากรและกลุ่มตัวอย่างให้ชัดเจน)  เครื่องมือวิจัย (ระบุเครื่องมือที่ใช้ ขั้นตอนการสร้าง คุณภาพเครื่องมือ) การวิเคราะห์ข้อมูล (ระบุวิธีการ สถิติที่ใช้) 

    3.8 แผนการดำเนินการวิจัย ระบุ ขั้นตอน/กิจกรรม ที่สอดคล้องกับระยะเวลา และการเก็บข้อมูลต้องคำนึงถึงบริบทพื้นที่ ประเพณี วัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เก็บ เพราะอาจกระทบกับระยะเวลาที่กำหนด สำหรับงบประมาณที่ใช้ ให้ระบุชัดเจน และศึกษาระเบียบการเงินประเด็นที่สามารถเบิกใช้ได้อย่างถูกต้อง

   3.9 ผลประโยชน์ที่ได้รับ คำนึงถึงผลกระทบหรือการนำผลผลิตไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อได้อย่างมีคุณภาพ

   3.10 เอกสารอ้างอิง ระบุทั้งเอกสารภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาวิธีการเขียนการอ้างอิงจากระบบออนไลน์ และเว็บไซด์ ต่าง ๆ ให้ถูกต้อง

   3.11 ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย ต้องระบุข้อมูลและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เสนอขอทุนให้มากที่สุด