การใช้สารเคมี

สารเคมีมีบทบาทมากในชีวิตประจำวันของคนทุกเพศวัยสาขาอาชีพแต่อาจจะมีคนจำนวนไม่มากแม้คนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่ทราบว่าปัจจุบันมีสารเคมีอยู่ในโลกจำนวนเท่าใด คำตอบนี้อาจจะเปลี่ยนไปทุกวัน หากใช้ระบบการลงทะเบียนสารเคมีของสมาคมเคมีของสหรัฐอเมริกา (American Chemical Society) ซึ่งมีส่วนงานที่เรียกว่า Chemical Abstract Service (CAS) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขึ้นทะเบียนสารเคมีและให้เลขอ้างอิง CAS Number (Chemical Abstract Service Number) ที่ใช้กันทั่วโลก หน่วยงานดังกล่าวระบุว่า ณ วันที่ 1 เมษายน 2548 มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอินทรีย์และอนินทรีย์รวมกันแล้วมากกว่า 25 ล้านสาร คำถามตามมาคือ เมื่อมีสารเคมีจำนวนมากมายมหาศาลอย่างนี้ จะมีการจัดการสารเคมีได้อย่างไรวงจรสารเคมีหมายถึงอะไรและจะใช้ระบบข้อมูลอะไรมาจัดการสารเคมีให้ครบวงจรได้วงจรสารเคมีที่จะกล่าวถึงในที่นี้ หมายความถึงวงจรที่เริ่มต้นตั้งแต่การซื้อการเก็บการใช้และการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

         
สำหรับข้อมูลที่จะนำมาทำระบบจัดการก็เริ่มตั้งแต่ข้อมูลชื่อสารเคมี และข้อมูลความปลอดภัย (Material Safety Data Sheet; MSDS) เมื่อทราบข้อมูลความปลอดภัย ก็จะทราบว่าสารนั้นมีลักษณะอันตรายอะไร วิธีใช้อย่างปลอดภัยต้องทำอย่างไร ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตนหรือไม่ หากมีสารหกรั่วไหลหรือมีอุบัติภัยต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร นอกจากนี้ก็ต้องมีข้อมูลว่าใช้ปริมาณเท่าใด ใช้อย่างไร ใช้นานเท่าใด เพื่อจะได้ระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งลักษณะเฉียบพลันและเรื้อรัง ต่อจากนั้นก็ต้องมีข้อมูลว่าต้องจัดจำแนกและเก็บของเสียที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายก่อนนำไปกำจัดให้ถูกวิธีโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

         
สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการจัดการสารเคมีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสากล ระดับภูมิภาค ตลอดจนระดับประเทศ น่าจะเป็นความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลที่เกิดจากอุบัติภัยสารเคมี สำหรับระดับสากล กรณีที่มีความสูญเสียมากที่สุดได้แก่ เหตุการณ์ก๊าซ Methyl isocyanate รั่วที่เมืองโบพาล ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2527 ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเวลานั้นมากกว่า 2,000 คนและบาดเจ็บกว่า 170,000 คน สำหรับประเทศไทย อุบัติภัยร้ายแรงจากสารเคมีมีหลายเหตุการณ์นับตั้งแต่ เหตุการณ์โรงงานผลิตอาวุธระเบิดเมื่อปี พ.ศ. 2523 เหตุการณ์คลังสารเคมีระเบิดที่คลองเตย เมื่อปี พ.ศ. 2534 และเหตุการณ์โปแตสเซียมคลอเรตระเบิดในโรงงานลำไย เมื่อปี พ.ศ.2542 เป็นต้น