การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ : คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

1. การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง   มี 2 คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ 1) เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Student / Child – oriented Approach) และ 2) เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student / Child – centered Approach) ทั้งสองคำเกี่ยวเนื่องและเป็นเรื่องเดียวกัน คำแรกเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษา เป็นสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนคำหลังอยู่ในระดับปฏิบัติการ เป็นวิธีการสอนที่ต้องสอดคล้องกับคำแรก การสอนหรือการจัดการเรียนการสอน มีกระบวนการเริ่มต้นจากการวิเคราะห์หลักสูตรรายวิชา 
          2. การวางแผนการสอนจะต้องมีกลยุทธ์การสอน จะเลือกการสอนแบบทางตรง (Direct Teaching) โดยใช้หลักนิรนัย (Deductive) เป็นการเน้นครูเป็นจุดศูนย์กลาง (Teacher-centered) หรือสอนแบบทางอ้อม (Indirect Teaching) โดยใช้หลักอุปนัย (Inductive) เป็นวิธีที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-centered)
          3.การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL: Problem-based Learning)เป็นการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ตามกลยุทธ์ของผู้สอน เป็นหนึ่งในวิธีการสอน (Teaching Method) ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student – centered Approach) PBL เกิดขึ้นจากประเด็นปัญหาที่เกิดกับการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ที่เป็นการบรรยายในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว ที่เน้นให้ผู้เรียนจดจำเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ ไม่ได้ส่งเสริมทักษะในการคิดวิเคราะห์และการให้เหตุผล บางครั้งเนื้อหาในการเรียนการสอนมีมากเกินความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน ในทางกลับกันกลับขาดทักษะที่จำเป็นบางอย่างสำหรับการปฏิบัติงาน หลักการสำคัญของ PBL คือการใช้ปัญหา (Problem) หรือ สถานการณ์สมมุติ (Scenario) เป็นตัวกระตุ้น (encourage) ให้เกิดการเรียนรู้ PBL จัดผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มย่อย โดยมีอาจารย์เป็นผู้อำนวยการ (director) ตามกลยุทธ์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เป็นผู้ให้คำปรึกษา (advisor) และเป็นกรรมการ (judge) ในบางกรณี การตั้งปัญหา ควรมีความน่าสนใจ ท้าทายให้หาคำตอบและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของรายวิชา