เทคนิคการพัฒนานักศึกษาให้ได้ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (สาขาบริหารธุรกิจ) : คณะวิทยาการจัดการ

องค์ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ เทคนิคการพัฒนานักศึกษาให้ได้พึงประสงค์ จำนวน 2 เทคนิค คือ
1. กระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงการเป็นฐาน ( Project – based Learning :PBL )
         การพัฒนาการสอนแบบใช้โครงการเป็นฐาน เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง เพื่อพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรมและจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านการทำงานที่มีการค้นคว้าและใช้ความรู้ในชีวิตจริง โดยมีผลงานและการแสดงออกถึงศักยภาพจากการเรียนรู้ โดยมีผู้สอนเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ กระตุ้นความคิด ภายใต้กรอบการเรียนรู้ของรายวิชานั้นๆ
ทีมผู้สอนในแต่ละรายวิชานำเทคนิคที่ใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบใช้โครงการเป็นฐานไปปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1.    การเตรียมความพร้อม ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติจริง (ในกรณีที่มีผู้สอนในวิชาเดียวกันหลายท่านจะต้องประชุมร่วมกันเพื่อให้กระบวนการปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน) ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีขั้นตอนย่อยดังต่อไปนี้
1.1        การวางแผนการสอนกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับคำอธิบายของรายวิชา
1.2  กำหนดกิจกรรม โดยจะต้องกำหนดกรอบหัวเรื่องโครงการให้แก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน กำหนดระยะเวลาที่จะให้ผู้เรียนจัดทำโครงการให้ชัดเจน แบ่งกิจกรรมออกเป็นขั้นเป็นตอนหลักเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานโครงการให้แก่ผู้เรียน กำหนดแนวทางการค้นคว้า กำหนดจำนวนครั้งของการส่งงานโครงการ กำหนดวิธีการวัดผลประเมินผลในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน 
1.3  การบริหารจัดการการสอน กำหนดแนวทางในการแบ่งกลุ่มของผู้เรียน เช่นจำนวนสมาชิกในแต่ละกลุ่ม รูปแบบการแบ่งกลุ่ม เป็นต้น กำหนดกติกาในการเข้าชั้นเรียน กำหนดกติกาในการทำงานและส่งผลงานโครงการ
ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้สอนควรจัดทำออกมาในรูปแบบของเอกสารแผนการเรียนการสอน หรือ มคอ.3
2.   ขั้นตอนการปฏิบัติจริง เป็นขั้นตอนซึ่งผู้สอนนำการสอนแบบใช้โครงการเป็นฐานไปใช้ในห้องเรียน โดย มีขั้นตอนการดำเนินการสอนดังนี้
2.1   การคิดและเลือกหัวข้อ
-         ผู้สอนมอบหมายโจทย์โครงการ 1 ชิ้นงาน สำหรับการทำ 1 ภาคเรียน
-         ผู้สอนแจ้งแนวทางในการประเมินผลโครงการ และกติกาที่จะใช้สำหรับการตรวจประเมินโครงการ ซึ่งจะครอบคลุมด้าน ในด้านคุณธรรมและจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
-          ให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มตามข้อกำหนด
-          ให้ผู้เรียนระดมความคิดภายในกลุ่ม เพื่อกำหนดชื่อเรื่องโครงการภายใต้กรอบหัวเรื่องที่ผู้สอนกำหนด ในขั้นตอนนี้ผู้สอนจะต้องควรให้คำปรึกษา หรือ จะต้องให้ผู้เรียนค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถกำหนดหัวข้อได้ตรงประเด็น อีกทั้งผู้สอนจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการระดมความคิดในกลุ่มของผู้เรียน
-          ให้ผู้เรียนนำเสนอชื่อเรื่อง โดยอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับชื่อเรื่องให้ผู้สอนพิจารณาแนะนำเพิ่มเติม
-          ผู้เรียนสรุปชื่อเรื่องที่จะใช้ทำโครงการ
2.2   การเขียนเค้าโครงของโครงการ
-  ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎี รวมถึงวรรณกรรมที่เกี่ยวกับข้องกับชื่อเรื่องที่จะทำโครงการ
-  ให้ผู้เรียนเขียนเค้าโครงโครงการ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อคือ ชื่อโครงการ ชื่อผู้ทำโครงการพร้อมจัดแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ชื่อที่ปรึกษาโครงการ ที่มาและความสำคัญของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี)   วิธีดำเนินงาน แผนปฏิบัติงาน ผลที่คาดว่าจะได้รับ เอกสารอ้างอิง
-  ให้ผู้เรียนนำเสนอเค้าโครงของโครงการหน้าชั้นเรียน เพื่อให้ผู้สอนและผู้ร่วมชั้นเรียน ร่วมกันอภิปราย แสดงความคิดเห็น และให้แนวทางในการปรับปรุงเพิ่มเติม
-   ผู้เรียนปรับปรุงเค้าโครงของโครงการโครงการให้สมบูรณ์
2.3   การปฏิบัติโครงการ 
-  ให้ผู้เรียนเริ่มจัดทำโครงการตามแผนปฏิบัติงาน โดยผู้สอนติดตามผลการดำเนินงานผ่านการรายงานความก้าวหน้าตามช่วงเวลาที่ผู้สอนกำหนด อีกทั้งจะต้องคอยให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ
-  ให้ผู้เรียนนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการหน้าชั้นเรียนตามช่วงเวลาที่กำหนด โดยมีผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน ช่วยกันวิพากย์ อภิราย และแนะนำแนวทางการปรับปรุง
-   ผู้เรียนปรับปรุงแนวทางโครงการตามแนวเสนอแนะ
-  ผู้เรียนนำเสนอโครงการให้ผู้เชี่ยวชาญวิพากย์ และให้แนวทางในการปรับปรุง
-   ผู้เรียนพัฒนาโครงการให้เสร็จสมบูรณ์
2.4   การจัดแสดงผลงาน  
-   ผู้เรียนนำเสนอโครงการต่อผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือต่อสาธารณชน
-  ผู้สอน ประเมินผลตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
3.    สรุปผลการเรียนการสอน และแนวทางการปรับปรุง
 ผู้สอนนำความคิดเห็นของสมาชิกในห้อง ผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญภายนอก มาสรุป ประโยชน์ที่ได้รับ ปัญหา พร้อมแนวทางแก้ไข สำหรับการเรียนการสอนครั้งต่อไป
2. กระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยการใช้กรณีศึกษา (Case Study Method)
    การพัฒนาวิธีการสอนแบบใช้กรณีศึกษา เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ถามตอบโดยการตั้งประเด็นคำถาม รวมถึงการอภิปราย การโต้วาที และบทบาทสมมุติจากกรณีศึกษาที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เพื่อพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรมและจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะได้แนวคิดใหม่ที่สร้างสรรค์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ โดยมีผู้สอนเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการให้สอดคล้องกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายรายวิชา รวมทั้งคอยกระตุ้นความคิด สรุปประเด็นที่สำคัญในกรณีศึกษาต่างๆ
  1.    การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเรียนการสอน (ในกรณีที่มีผู้สอนในวิชาเดียวกันหลายท่านจะต้องประชุมร่วมกันเพื่อให้กระบวนการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน) ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีขั้นตอนย่อยดังต่อไปนี้
1.1 การวางแผนการสอนมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้กรณีศึกษาให้สอดคล้องกับคำอธิบายรายวิชาของรายวิชานั้นๆ 
1.2 กำหนดลักษณะกรณีศึกษา ที่จะใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และวัตถุประสงค์ในเนื้อหารายวิชา กำหนดแนวทางการจัดหากรณีศึกษาที่จะใช้
1.3 การบริหารจัดการเรียนการสอน กำหนดวิธีการที่จะดึงข้อมูลที่สำคัญในกรณีศึกษาต่างๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปประเด็น ตามแนวทางที่ผู้สอนกำหนด รวมถึงกำหนดกติกาในการเข้าชั้นเรียน กติกาในการทำงานเป็นกลุ่ม กติกาในการส่งงาน
2.    ขั้นตอนการปฏิบัติจริง
                  2.1 ขั้นนำ ผู้สอน/ผู้เรียน เตรียมกรณีศึกษาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในเนื้อหารายวิชา ในรูปแบบต่างๆ เช่น วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ วารสาร ฯลฯ โดยในขั้นนี้ผู้สอนควรกำหนดประเด็นของกรณีศึกษาล่วงหน้าก่อนเพื่อให้ผู้เรียนจะได้สามารถค้นคว้าข้อมูล แนวคิดและทฤษฎีมาก่อนล่วงหน้าจะทำให้เกิดโอกาสในการเข้าใจง่ายขึ้น ในส่วนการได้มาซึ่งกรณีศึกษาผู้สอนควรเตรียมเองในช่วงต้นๆแต่เมื่อผู้เรียนมีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น ผู้สอนควรอนุญาตให้ผู้เรียนเตรียมกรณีศึกษาเองบ้างโดยมีผู้สอนเป็นผู้ตรวจสอบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบของกรณีศึกษา จากนั้นเมื่อก่อนเริ่มต้นทำกรณีศึกษาผู้สอนต้องบรรยายเกี่ยวกับทฤษฎีให้ผู้เรียนเข้าใจเพียงพอก่อน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิดและวิเคราะห์ เชื่อมโยงเข้ากับทฤษฎีได้อย่างตรงประเด็น และผู้สอนควรจะเริ่มด้วยการใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจในการคิดและหาคำตอบ
         2.2 ขั้นศึกษา ผู้เรียนทำการวิเคราะห์กรณีศึกษา โดยควรแบ่งเป็นกลุ่มย่อย แล้วทำการสรุปประเด็นปัญหา หาองค์ประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อหาในรายวิชาภายในกลุ่มก่อน เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างเต็มศักยภาพ  
                     2.3 ขั้นนำเสนอ ผู้สอน/ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการวิเคราะห์ อันได้แก่ ประเด็นปัญหา องค์ประกอบที่พบในกรณีศึกษา ทั้งนี้การนำเสนอจะใช้สื่อทางเทคโนโลยีหรือใช้บทบาทสมมุติหรือสถานการณ์จำลองก็ได้
                     2.3 ขั้นอภิปราย ผู้สอน/ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายประเด็นสำคัญที่ค้นพบ อภิปรายเชิงเปรียบเทียบหรือเชื่อมโยงกับทฤษฎี และสังเคราะห์ให้ตกผลึกทางความคิด
                      2.4 ขั้นสรุป ผู้สอน/ผู้เรียนร่วมกันสรุปองค์ความรู้ที่ได้รับและแนวทางในการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์
3.    สรุปผลการเรียนการสอนและแนวทางการปรับปรุง
          ผู้สอนนำความพึงพอใจและข้อเสนอแนะจากผู้เรียนมาสรุป เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขในการเรียนการสอนครั้งต่อไป