ปัญหาและที่มาของการจัดการความรู้ในปี 2557 ค่ะ

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลัก ที่สมาชิกประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ร่วมกันกำหนดเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาคม และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทั้งด้านมาตรฐานและการบริการ
พยาบาล ถือเป็นวิชาชีพแรกในแปดวิชาชีพ ที่มีการลงนามตกลงให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ดังนั้น วิชาชีพพยาบาลจึงต้องมีการตื่นตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมอาเซียน และทำความเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้บริการสุขภาพและการพยาบาล ทั้งด้านการประเมินภาวะสุขภาพ การวินิจฉัย การวางแผนให้การช่วยเหลือดูแล การฟื้นฟูสภาพ และเสริมสร้างสุขภาพ รวมทั้งช่วยการบำบัดรักษาได้ตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้มาใช้บริการที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเป็นที่พึงพอใจของทั้งผู้มาใช้บริการและผู้ให้บริการ
จากประสบการณ์การฝึกปฏิบัติวิชาการพยาบาลชุมชนในหลากหลายพื้นที่พบว่า มีประชาชนในชุมชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจากบุคคลากรทางสาธารณสุข และในจำนวนนี้พบว่ามีประชาชนชาวต่างชาติจากประเทศที่เข้าร่วมสมาคมอาเซียนอาศัยปะปนอยู่ในชุมชนด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความต้องการการตอบสนองทางด้านสุขภาพพื้นฐานเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมานักศึกษาประสบกับปัญหาไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจในการซักถามภาวะสุขภาพของบุคคลเหล่านี้ได้ เนื่องจากเหตุผลทางวัฒนธรรมภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้บุคคลเหล่านี้ถูกละเลยในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ควรได้รับการตอบสนองตามหลักสิทธิมนุษยชน และจรรยาบรรณทางการพยาบาล
ดังนั้น  กลุ่มครูสีฟ้าจึงได้ดำเนินการจัดการความรู้โดยการปรับปรุงคู่มือการซักประวัติและประเมินภาวะสุขภาพให้รองรับในความแตกต่างด้านภาษา เพื่อแก้ไขปัญหาการถูกละเลยในการดูแลภาวะสุขภาพแก่ชาวต่างชาติที่เกิดจากอุปสรรคด้านการสื่อสาร และช่วยลดช่องว่างในการดูแลภาวะสุขภาพของประชาชนในชุมชน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ดำรงชีวิตอย่างมีความกลมกลืนในภาวะสุขภาพที่ดี บนพื้นฐานของความเท่าเทียมในด้านการได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน อันจะก่อให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต
การจัดการความรู้ในปี 2557 นี้จึงได้ดำเนินงานต่อยอดจากเดิม โดยทางกลุ่มครูสีฟ้าได้นำคู่มือซักประวัติภาษาอาเซียนมาใช้ในการซักประวัติเพื่อที่จะค้นหาปัญหาสุขภาพของชาวต่างชาติในชุมชน โดยนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผนแก้ไขปัญหานั้นโดยการผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพขึ้นโดยนักศึกษา ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลอนามัยชุมชน
ซึ่งกระบวนการดำเนินงานทั้งหมด สามารถปฏิบัติควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาได้ โดยจะก่อให้เกิดผลลัพธ์มากกว่าการฝึกปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะช่วยให้นักศึกษาตระหนักในความสำคัญของการเตรียมตัวทางด้านสุขภาพเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต และช่วยหล่อหลอมให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของความเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน ช่วยหล่อหลอมให้เป็นผู้มีจรรยาบรรณวิชาชีพพยาบาลที่ดี โดยผลลัพธ์ที่ได้จะเพิ่มพูนทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์การผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ไขภาวะสุขภาพของคนต่างเชื้อชาติ การลดช่องว่างทางภาษา และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพในการนำคู่มือซักประวัติภาษาอาเซียนไปใช้ โดยผลลัพธ์สุดท้าย จะก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญของการพยาบาลอนามัยชุมชนนั่นเอง